Amazing AEC – ทำไมแรงงานเมียนมาคลั่งไคล้อองซาน?

0
533

ใครที่ได้เห็นภาพแรงงานเมียนมาที่ลางานมานับเรือนหมื่นเรือนแสนเพื่อจะออกมาพบที่ปรึกษาแห่งรัฐ ด่อว์อองซานซูจิ แล้วคงอดจะนึกอะเมซิ่งไม่ได้ว่าทำไมคนเมียนมาเขาถึงได้รักด่อว์ซูมากขนาดนี้

เมียนมานั้นเป็นประเทศที่ไม่ค่อยมีวีรบุรุษของประเทศครับ เพราะตั้งแต่อดีตเป็นต้นมาแต่ละชนเผ่าไม่ว่าจะเป็น บะหม่า ที่เป็นที่มาของการเรียกชื่อประเทศนี้ช่วงหนึ่งว่าพม่าตามการออกเสียงแบบฝรั่ง ก็ยังมีอีก 7 ชนเผ่าสำคัญคือ มอญ ไทยใหญ่ ยะไข่ คะหยิ่นหรือกระเหรี่ยง คะฉิ่น ชิน คะยาหรือกระเหรี่ยงแดง ซึ่งในอดีตความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าทั้ง 8 เหล่านี้ไม่ ต่างอะไรกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่มีพื้นที่ติดกัน ที่จะรักกันบ้างรบกันบ้างแต่ส่วนมากจะรบกันเสียมากกว่า

แต่ละชนเผ่าในแต่ละช่วงเวลา อาจจะมีวีรบุรุษของเขากันบ้าง แต่ชนเผ่าอื่นๆก็ไม่นิยมถือเอาวีรบุรุษของชนเผ่าอื่นมาเป็นวีรบุรุษของตน ต่อเมื่ออังกฤษเข้ามาปกครองและรวมเอาชนเผ่าทั้ง 8 รวมเข้ากับอีกร้อยกว่าชนเผ่าที่กระจายกันอยู่ตามชายขอบแล้ว กลุ่มชนเผ่าทั้งหลายจึงได้ถูกรวมเป็นประเทศ Berma ซึ่งไทยเราเรียกตามว่าพม่า ซึ่งในตอนนี้แหล่ะครับที่ “นายอองซาน” ซึ่งในสมัยนั้นยังเป็นแค่เด็กหนุ่มได้รวบรวมกำลังพรรคพวกรุ่นราวคราวเดียวกันไปชวนเอาญี่ปุ่นเข้ามาไล่อังกฤษออกไปได้สำเร็จ

เมื่อญี่ปุ่นเข้ามาปกครองก็ได้แต่งตั้งเขาให้เป็น “ปู่โช่ว์อองซานหรือนายพลอองซาน”  ซึ่งหลังจากญี่ปุ่นได้เข้ามาปกครอง ได้สักพัก ปู่โช่ว์อองซานก็ได้รู้ว่าญี่ปุ่นก็ไม่ได้แตกต่างจากอังกฤษในด้านการกดขี่ข่มเหงและการดูดเอาทรัพยากรของพม่า ไปใช้ ปู่โช่ว์จึงได้วางแผนชวนอังกฤษเข้ามาขับไล่ญี่ปุ่นออกไปโดยมีเงื่อนไขว่าเมื่อขับไล่ญี่ปุ่นได้สำเร็จ อังกฤษจะต้องคืน เอกราชให้กับพม่า และเขาก็ทำได้สำเร็จตามแผน

เมื่อรู้ว่าจะได้เอกราช ปู่โชว์อองซานนั้นตั้งใจที่จะร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเมื่อประเทศพร้อม ชนเผ่าทั้ง 8 จะมีความเป็นอิสระใน การบริหารตนเอง ผู้นำชนเผ่าจึงได้มาลงนามกันใน “สนธิสัญญาปางโหลง” ซึ่งมีสาระสำคัญที่จะให้อำนาจในการปก ครอง ตนเองแก่ชนเผ่าต่างๆ พร้อมกันนั้นก็ได้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อจะนำไปสู่การเลือกตั้งและการคืนอำนาจให้กับ ชนเผ่า แต่โชคร้ายที่มีแกนนำของประเทศบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ จึงได้ส่งคนมาสังหารปู่โช่ว์อองซาน เมื่อเขา เดินออกมาจากห้องประชุมจนเสียชีวิตพร้อมๆกับรัฐมนตรีอีกหลายคน ทำให้ผู้คนทุกชนเผ่ายังจดจำมาถึงทุกวันนี้ว่า ปู่โช่ว์อองซานนี่หล่ะที่เป็นวีรบุรุษของชาติที่แท้จริง และยังคงให้ความเคารพนับถือมาจนถึงวันนี้

ปีที่เขาโดนสังหารนั้นลูกสาวของเขาคือ อองซานซูจิ เพิ่งจะมีอายุได้สองขวบหนึ่งเดือนเท่านั้น มารดาของเธอ ด่อว์ขิ่นจี จึงพาเธอไปศึกษาต่อที่อินเดียขณะที่เธอต้องไปรับตำแหน่งทูตที่นั่นก่อนที่อองซานจะไปเรียนต่อในอังกฤษจนพบรักกับไมเคิล อริส นักศึกษารุ่นน้องในมหาวิทยาลัยเดียวกัน เมื่อเรียนจบอองซานก็ได้ทำงานที่องค์การสหประชาชาติและมีชีวิต ครอบครัวที่มีความสุขกับไมเคิลและลูกชายสองคน อเล็กซานเดอร์และคิม อองซานมีชีวิตรักที่อบอุ่นและโรแมนติคนอกประเทศพม่า จนกระทั่งเธอได้ข่าวว่ามารดาของเธอซึ่งอยู่ในหยั่นโกว่น (ย่างกุ้ง) ป่วยหนัก เธอจึงกลับมาเยี่ยมในเดือนมีนาคม ปีพ.ศ. 2531 และเหมือนโชคชะตาจะกำหนดให้เธอต้องเกิดมาเป็น วีรสตรีของชาติคนที่สองต่อจากบิดาของเธอ รัฐบาลทหารของพม่าได้ใช้ความรุนแรงจัดการกับนักศึกษาและประชาชน ในการชุมนุม 8888  ซึ่งหมายถึงการชุมนุมในวันที่  8 เดือน 8 ปีค.ศ. 1988 เมื่อเกิดความรุนแรงนักศึกษาและประชาชน ซึ่งยังไม่มีผู้นำก็เลยไปชวนอองซานซึ่งเป็นลูกสาววีรบุรุษของชาติมาขึ้นเวทีปราศรัยด้วย และจากวันที่ขึ้นปราศรัยเป็น ครั้งแรกในชีวิต ชะตาชีวิตของอองซานก็เปลี่ยนไปอย่างที่ใครก็คาดไม่ถึง

[smartslider3 slider="9"]