Amazing AEC – รับมือวิกฤติ COVID-19 แบบไต้หวัน

0
587

เนื่องจากไต้หวันอยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่เพียงร้อยกว่ากิโลเมตร มีเที่ยวบินระหว่างกันมากมาย มีคนไต้หวันอาศัยอยู่ในจีนกว่าแปดแสนคน และมีอีกราวสี่แสนคนทำงานอยู่ในจีน ในปีพ.ศ. 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไต้หวัน 2.7 ล้านคน เลยทำให้หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าไต้หวันจะต้องเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบ COVID-19 มากเป็นที่สองหรือสามรองจากจีนอย่างแน่นอน เพราะเมื่อเกิดการระบาดของซาร์ส ในปีพ.ศ. 2545-2547 นั้นไต้หวันมีผู้ติดเชื้อ 346 ราย เสียชีวิต 73 ราย สูงเป็นอันดับสามของโลกรองจากจีนที่มีผู้ติดเชื้อ 5,327 ราย เสียชีวิต 349 รายและฮ่องกงที่มีคนติดเชื้อ 1,755 ราย เสียชีวิต 299 ราย ขณะที่ไทยมีผู้ติดเชื้อ 9 รายเสียชีวิต 2 ราย

แต่สถานการณ์จริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น จากสถิติจนถึงวันที่ 5 มีนาคม ไต้หวันมีคนติดเชื้อ COVID-19 เพียง 47 รายและเสียชีวิต 1 ราย ใกล้เคียงกับไทยเราที่มีผู้ติดเชื้อ 47 รายและเสียชีวิต 1 ราย แต่ตัวเลขห่างจากจีน เกาหลีใต้ อิตาลีและอิหร่านที่มีผู้ติดเชื้อรวมกันมากกว่า 90,000 ราย เสียชีวิตรวมสามพันกว่ารายได้อย่างมากมาย ไต้หวันควบคุมการระบาดของ COVID-19 ได้อย่างไร? จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

นับตั้งแต่มีการระบาดของซาร์สทั่วโลก ในช่วงปีพ.ศ. 2545-2547 ไต้หวันได้เรียนรู้ จดจำและได้สร้างระบบที่จะจัดการกับภาวะวิกฤติกับโรคระบาดร้ายแรงไว้รับมือกับโรคระบาดร้ายแรงใหม่ๆซึ่งอาจจะระบาดใหญ่อีกเมื่อไหร่ก็ได้ รัฐบาลไต้หวันจึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Command Center : NHCC) เพื่อทำหน้าที่บัญชาการการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร้ายแรงด้านโรคติดต่อ โดยมีศูนย์บัญชาการกลางโรคระบาด (Central Epidemic Command Center : CECC) เป็นผู้บัญชาการสั่งการ

ทันทีที่องค์การอนามัยโลกประกาศว่ามีการระบาดของโรคปอดอักเสบโดยยังไม่ทราบแหล่งที่มาในอู่ฮั่นประเทศจีน ในวันที่ 31 ธันวาคมปีที่แล้ว รัฐบาลไต้หวันก็ได้สั่งให้มีการตรวจสุขภาพผู้โดยสารที่เดินทางมากจากอู่ฮั่นบนเครื่องบินทันทีที่เครื่องมาถึงไต้หวันก่อนที่ผู้โดยสารจะได้รับอนุญาตให้ลงจากเครื่องบินได้ และอีกเพียง 5 วันต่อมาการตรวจก็ได้ขยายรวมไปถึงผู้ที่เคยเดินทางไปอู่ฮั่นมาภายในระยะเวลา 14 วัน

เมื่อมีรายงานการระบาดมากขึ้นในประเทศจีน รัฐบาลไต้หวันก็ได้ประกาศให้ ศูนย์บัญชาการกลางโรคระบาด CECC เริ่มการบัญชาการโดยทันทีโดยให้บูรณาการกับกระทรวงต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งไม่ใช่เฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบสาธารณสุขเท่านั้นแต่ยังรวมไปถึงกระทรวงคมนาคม กระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย

ศูนย์บัญชาการกลางโรคระบาด CECC ได้บัญชาการอย่างรวดเร็วและได้สร้างลิสต์หัวข้อสิ่งที่ต้องปฏิบัติ 124 ข้อสำหรับหน่วยงานต่างๆที่จะต้องรับไปปฏิบัติตาม อาทิการควบคุมพื้นที่ชายแดนทั้งทางอากาศและทางทะเล การตรวจหาผู้ได้รับเชื้อ การกักบริเวณผู้ต้องสงสัยว่าจะได้รับเชื้อ การจัดสรรทรัพยากรต่างๆ การให้ข้อมูลและความรู้กับประชาชน การต่อสู้กับข่าวลวง การเปิดปิดสถาบัน การศึกษา รวมถึงการบรรเทาผลกระทบสำหรับภาคธุรกิจ

ศูนย์บัญชาการโรคระบาด CECC เริ่มต้นด้วยการเอาข้อมูลของระบบประกันสุขภาพของประเทศมาบูรณาการกับข้อมูลของการตรวจคนเข้าเมืองและข้อมูลของศุลกากรเพื่อสร้าง “บิ๊กดาต้า” สำหรับการวิเคราะห์ เพื่อสร้างการเตือนแบบเรียลไทม์ทันท่วงทีเมื่อมีคนเข้ารับการตรวจสุขภาพในคลินิกหรือโรงพยาบาล โดยบิ๊กดาต้าจะเชื่อมโยงอาการผู้ป่วยเข้ากับข้อมูลประวัติการเดินทางของผู้ป่วยเพื่อช่วยวิเคราะห์และช่วยหาให้พบว่าผู้ป่วยดังกล่าวมีโอกาสจะได้รับเชื้อ COVID-19 มากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ไต้หวันยังใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมถึง QR Code และการรายงานผลแบบออนไลน์เกี่ยวกับประวัติการเดินทางและประวัติอาการและสุขภาพ เพื่อจัดลำดับชั้นความเสี่ยงของผู้เดินทาง โดยดูจากจากจุดเริ่มต้นของการเดินทางและประวัติการเดินทางภายในรอบ 14 วัน ถ้าผู้เดินทางไม่ได้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดระดับ 3 รัฐบาลก็จะส่ง “ใบรับรองสุขภาพสำหรับการผ่านแดน” ไปให้ทางโทรศัพท์มือถือของผู้เดินทางผ่าน SMS เพื่อให้ผู้เดินทางใช้แสดงกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งจะทำให้ผู้เดินทางสามารถผ่านกระบวนการตรวจคนเข้าเมืองและกระบวนการตรวจสุขภาพและกระบวนการต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากได้รับแพร่เชื้อ COVID-19 เมื่อจะต้องไปอยู่ในบริเวณผู้คนแออัดเพื่อรอรับการตรวจคนเข้าเมืองได้อีกด้วย

ส่วนคนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะได้เดินทางไปยังประเทศที่มีการระบาดขั้นที่ 3 ก็จะถูกขอให้กักบริเวณอยู่แต่ภายในบ้านและทางการไต้หวันก็จะตรวจติดตามการกักตัวเองจากสัญญาณโทรศัพท์มือถือเพื่อให้มั่นใจว่าบุคคลผู้นั้นกักตนเองอยู่แต่ภายในบ้านจริง

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]