Amazing AEC – วันครูใน AEC

0
560

16 มกราคมที่ผ่านไปเป็นวันครูของไทย เท่าที่ตรวจสอบดูพบว่ามีเพียงเวเนซูเอล่าเท่านั้นเองซึ่งจัดงานวันครูเร็วกว่าเมืองไทยคือเขาจัดกันในวันที่ 15 มกราคม ไทยเราเริ่มจัดงานวันครูครั้งแรกในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 หลังจากที่ จอมพลป.พิบูลย์สงครามได้กล่าวในการประชุมคุรุสภาเมื่อปีพ.ศ. 2499 ว่าครูเป็นผู้มีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิต จึงควรต้องมีวันครูเพื่อให้ลูกศิษย์ได้แสดงความเคารพต่อครูผู้มีพระคุณ

วันครูของมาเลเซียหรืออีกชื่อเรียก “วันฮารี กูรู Hari Guru” คือวันที่ 16 พฤษภาคมของทุกปี แต่ถ้าวันนั้นไปตรงกับวันหยุดเสาร์อาทิตย์ มาเลเซียก็จะจัดงานวันครูให้เร็วขึ้นอีกวันสองวันเพื่อไม่ให้ตรงกับวันหยุด ที่เลือกวันนี้ก็เพราะเป็นวันที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติรับรองรายงานเกี่ยวกับการศึกษาของประเทศ “ราซัครีพอร์ท” ตั้งตามชื่อรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาสมัยนั้น ตุนอับดุลราซัคบิดาของอดีตนายกฯ นาจิ๊บ ราซัค ซึ่งต่อมาได้เป็นนายกฯคนที่สองของ ประเทศ

สิงคโปร์เคยกำหนดให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็นวันครู ต่อมาได้เปลี่ยนไปกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเทอมที่ 3 เป็นวันครูเพื่อให้นักเรียนจะได้แสดงมุทิตาจิตกับครูในช่วงเช้า ก่อนที่คุณครูจะได้หยุดพักในช่วงบ่ายวันนั้นและได้หยุดยาวราวๆ 1 อาทิตย์ไปจน กระทั่งวันเปิดเทอม 4 วันครูปีนี้เป็นวันศุกร์ที่ 6 กันยายน ก่อนที่โรงเรียนจะปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 7 ไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน

ฟิลิปปินส์มีการฉลองวันครูยาวนานที่สุดในอาเซียนและน่าจะยาวนานที่สุดในโลกด้วย คือฉลองวันครูกันตั้งแต่วันที่ 5 กันยายนไปจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ซึ่งนักเรียนฟิลิปปินส์นิยมที่จะมอบดอกกล้วยไม้ให้คุณครูติดเสื้อ ส่วนโรงเรียนจีนในประเทศจะเลือกเอาวันเกิด “ขงจื๊อ” วันที่ 28 กันยายนเป็นวันครู แต่จะจัดกิจกรรมกันในวันที่ 27 กันยายนเพื่อให้ครูได้ หยุดพักในวันครูนั่นเอง

ส่วนบรูไนกำหนดให้วันที่ 23 กันยายนของทุกปีเป็นวันครู เพื่อรำลึกถึง “สุลต่านโอมาร์ อาลีไซฟุดดีนที่ 3” กษัตริย์องค์ที่ 28 ของบรูไน ในฐานะกษัตริย์ที่ทรงให้ความสำคัญกับการศึกษาอย่างมาก โดยได้ทรงเสนอนโยบายการศึกษาฟรีให้กับประชาชน ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้ถูกสานต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เมียนมาเลือกเอาวันที่ 5 ตุลาคมเป็นวันครูตามยูเนสโกกำหนดให้เป็น “วันครูโลก” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 เช่นเดียวกับอีกหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่วันครูในเมียนมาจะไม่ค่อยคึกคักนัก กิจกรรมส่วนใหญ่มักจัดกันแบบเรียบง่ายภายใน โรงเรียนกันแบบเงียบๆ เช่นเดียวกับกัมพูชาซึ่งเดิมเคยเลือกเอาวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันครู แต่มักไม่ค่อยได้รับ ความสนใจจากคนกัมพูชาสักเท่าใดไม่ค่อยมีการจัดงานอะไร จนกระทั่งปีพ.ศ. 2540 ที่สมเด็จฮุนเซ็นนายกฯได้เปลี่ยนมาเลือกเอาวันที่ 5 ตุลาคม วัน ครูโลกเป็นวันครูในกัมพูชา กิจกรรมต่างๆจึงเริ่มคึกคักมากขึ้น

สปป.ลาวเลือกเอาวันที่ 7 ตุลาคมเป็นวันครูเพื่อรำลึกถึงคุณงามความดีของคุณครูสปป.ลาวท่านหนึ่ง “ครูคำ” ครูผู้อุทิศตนอบรมสั่งสอนศิษย์ และเป็นครูผู้ยืนหยัดต่อต้านลัทธิอาณานิคมที่คุกคามเอกราชและอธิปไตยของประเทศ ครูคำได้รับการบรรจุเป็นครูครั้งแรกในวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2450 รัฐบาลจึงได้เลือกเอาวันนี้เป็นวันครู
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2501 เวียดนามเลือกเอาวันที่ 20 พฤศจิกายนเป็นวันครูตามกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์ ก่อนที่จะมาเปลี่ยนชื่อ เป็น “วันการศึกษาเวียดนาม” ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2525 เป็นต้นมา ซึ่งทั้งนักเรียนเวียดนามทั้งปัจจุบันและนักเรียนที่เรียนจบ ออกไปแล้วจะจัดกิจกรรมกันอย่างคึกคัก มีทั้งการไหว้ครู การจัดงานเลี้ยง ให้ของขวัญและพาครูไปเที่ยว

ประเทศใน AEC ซึ่งจัดวันครูช้าที่สุดคืออินโดนีเซียซึ่งกำหนดวันครูให้เป็นวันเดียวกับวันก่อตั้งสมาคมครูอินโดนีเซีย ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี

[smartslider3 slider="9"]