อาทิตย์ที่แล้วผมได้เขียนถึงวันเด็กของไทยซึ่งจัดในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม ส่วนฟิลิปปินส์และบรูไนจัดวันที่ 20 พฤศจิกายนตามองค์การสหประชาชาติ ขณะที่สปป.ลาว เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม รวมถึงจีนเลือกจัดวันที่ 1 มิถุนายน ตามสภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติไปแล้ว วันนี้จะขอเขียนถึงประเทศที่เหลือต่อ
อินโดนีเซียนั้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2494 จัดงานวันเด็กในวันที่ 17 มิถุนายน และได้เปลี่ยนไปเป็นวันที่ 3 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวัน สำคัญด้านการศึกษาของประเทศ ต่อมาในปีพ.ศ. 2527 สมัยของประธานาธิบดีซูฮาร์โต ได้กำหนดให้วันที่ 23 กรกฎาคม ของทุกปีให้เป็นวันเด็กเพราะตรงกับวันที่ประเทศได้มีการออกกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพซึ่งออกมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522
มาเลเซียจัดงานวันเด็กครั้งแรกในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ก่อนจะเปลี่ยนไปจัดกันในวันเสาร์ สุดท้ายของเดือนตุลาคม ของทุกปี กิจกรรมวันเด็กของมาเลเซียส่วนมากจะจัดกันในโรงเรียนต่างๆอย่างสนุกสนาน
สิงคโปร์นั้นเคยจัดกำหนดให้วันที่ 1 ตุลาคมของทุกปีเป็นวันเด็ก ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคม ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ซึ่งในวันนี้เป็นวันหยุดเรียน เด็กๆสิงคโปร์จึงไม่ต้องไปโรงเรียน ห้างร้านต่างๆจึงแข่งกัน จัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดเด็กๆให้ไปร่วม ดังนั้นในวันเด็กของสิงคโปร์จึงเป็นวันหยุดยาวสำหรับเด็กๆ คือหยุดศุกร์ เสาร์ อาทิตย์
รัฐบาลสิงคโปร์นั้นคงจะเห็นว่าประเทศของเขาผู้คนแข่งขันกันรุนแรง คงจะมีความเครียดเยอะกว่าคนประเทศอื่นๆ ดังนั้น รัฐบาลสิงคโปร์จึงชอบกำหนดวันพิเศษเหล่านี้ให้เป็นวันศุกร์ต่างๆ เพื่อที่จะให้มีวันหยุดยาวสามวัน ศุกร์เสาร์อาทิตย์ให้คน ของเขาได้เที่ยวได้พักผ่อนจะได้ไม่เครียดกันจนเกินไป วันครูก็เช่นเดียวกันจากเดิมที่รัฐบาลสิงคโปร์เคยกำหนดให้วันที่ 1 กันยายนของทุกปีเป็นวันครู ก็ได้เปลี่ยนไปกำหนดให้วันศุกร์สุดท้ายของเทอมที่ 3 เป็นวันครู เพื่อให้นักเรียนจะได้แสดง มุทิตาจิตกับครูในช่วงเช้า ก่อนที่คุณครูทั้ง หลายจะได้หยุดพักในช่วงบ่ายวันนั้นและได้หยุดยาวราวๆ 1 อาทิตย์ไปจน กระทั่งวันเปิดเทอม 4 วันครูสิงคโปร์ปีที่แล้ว จึงเป็นวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม ส่วนวันครูปีนี้จะเป็นวันศุกร์ที่ 6 กันยายน ก่อนที่โรงเรียนจะปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 7 ไปจนถึงวันที่ 15 กันยายน
วันเด็กในประเทศอื่นๆในกลุ่มอาเซียนบวก 6 นอกจากจีนที่จัดในวันที่ 1 มิถุนายนแล้ว ก็มีเกาหลีใต้ที่เลือกเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีให้เป็นวันเด็กตามแนวคิดและการผลักดันของดร.บาง จุงฮวาน นักเขียนซึ่งพยายามจะสร้างให้เด็ก ของเขามีความภาคภูมิใจในความเป็นเอกราชและความภาคภูมิใจในชาติ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2465 ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศ ให้วันที่ 5 พฤษภาคมเป็นวันเด็กและเป็นวันหยุดของประเทศมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531
ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเลือกเอาวันเดียวกันกับเกาหลีใต้คือวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นวันเด็กแต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน โดยในญี่ปุ่นนั้นเริ่ม มาตั้งแต่สมัยเอโดะด้วยการเฉลิมฉลองการมีลูกชายด้วยการจัดพิธีบูชาตุ๊กตานักรบ มีการตั้งเสาธงปลาคาร์ฟเพื่อแสดง ความยินดีที่มีลูกชายและเป็นการขอพรให้ลูกชายมีสุขภาพแข็งแรง จนกระทั่งถึงปีพ.ศ. 2491 รัฐบาลจึงประกาศให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเด็กและวันหยุด เลยทำให้ผู้หญิงรู้สึกน้อยใจที่รัฐบาลไม่ได้กำหนดให้วันที่ 3 เดือน 3 ซึ่งเป็น วันเฉลิมฉลองเด็กผู้หญิงให้เป็นวันเด็กและวันหยุดบ้าง
อินเดียเลือกเอาวันที่ 14 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของอดีตนายกฯคนแรกของประเทศ เยาวหราล เนห์รู ซึ่งเป็น คนรักเด็กและเป็นคนต้นแบบที่เด็กๆอินเดียควรเอาเป็นคนต้นแบบให้เป็นวันเด็ก ขณะที่นิวซีแลนด์เลือกเอาวันอาทิตย์แรก ของเดือนมีนาคมเป็นวันเด็ก ส่วนออสเตรเลียใจดีเป็นพิเศษเพราะไม่ได้แค่กำหนดแค่ “วัน” เด็ก แต่กำหนดให้สัปดาห์ สุดท้ายของเดือนตุลาคมเป็น “สัปดาห์” เด็ก ให้จัดกิจกรรมให้เด็กๆกันทั้งสัปดาห์เลย