Amazing AEC – วันเด็กใน AEC

0
633

วันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมทุกปีไทยเรากำหนดเป็นวันเด็กแห่งชาติ โดยครั้งแรกที่ไทยเราจัดให้มีวันเด็กในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลสมัยนั้นกำหนดให้เป็นวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมตามคำเชิญชวนขององค์การสหประชาชาติ จัดกันมาได้หลายปี รัฐบาลก็นึกได้ว่าเดือนตุลาคมนั่นยังเป็นหน้าฝนอยู่ เด็กๆ มางานลำบาก เปียกเฉอะแฉะ รัฐบาลก็เลยกำหนดให้ทุกวันจันทร์ที่สองของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแทนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 เป็นต้นมา

ในแต่ละประเทศนั้นจะจัดให้มีวันเด็กต่างวันกันออกไป โดยมีสององค์กรระดับโลกที่กำหนดวันเด็ก แต่ก็กำหนดกันคนละวัน สภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติ กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันเด็กนานาชาติ หรือ International Children’s Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา

ขณะที่องค์การสหประชาชาติกำหนดให้วันที่ 20 พฤศจิกายนของทุกปีให้เป็นวันเด็กสากล หรือ Universal Children’s Day นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ทุกประเทศคุ้มครองสิทธิในชีวิต สุขภาพ และสิทธิด้านการศึกษาของเด็กและเป็นการเฉลิมฉลองให้แก่เด็กๆ ทั่วโลก

มาดูวันเด็กของประเทศ AEC กันบ้างว่าแต่ละประเทศเขาเลือกเอาวันไหนเป็นวันเด็ก ฟิลิปปินส์และบรูไน เลือกเอาวันที่จะเฉลิมฉลองวันเด็กในวันเดียวกับวันเด็กสากลขององค์การสหประชาชาติคือ วันที่ 20 พฤศจิกายน ของทุกปี ส่วนที่อินโดนีเซีย เลือกเอาวันที่ 23 กรกฎาคมของทุกปีเป็นวันเด็กเพื่อรำลึกถึงวันที่ประธานาธิบดีซูฮาร์โตได้ออกกฎหมายสวัสดิภาพเด็กในปีพ.ศ. 2528

สิงคโปร์เลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็กของ ซึ่งเด็กๆสิงคโปร์ ก็จะได้หยุดเรียนเหมือนเด็กไทยเพื่อให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาอยู่กับเด็กๆ และพาลูกๆไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆซึ่งก็จะจัดกิจกรรมวันเด็กกันอย่างสนุกสนาน เทคนิคการเลือกวันศุกร์แรกของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็กนั้นทำให้เด็กและครูสิงคโปร์มีโอกาสหยุดยาวสามวันติดกันเพื่อพักผ่อนและไปเที่ยว ขณะที่มาเลเซียเลือกวันเสาร์สุดท้ายของเดือนตุลาคมให้เป็นวันเด็ก โดยการฉลองวันเด็กของมาเลเซียนั้นนิยมฉลองกันในโรงเรียน ซึ่งจะจัดกิจกรรมให้เด็กๆฉลองกันมากมายเลยทีเดียว

ส่วนประเทศกลุ่ม CLMV กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาและเวียดนาม นั้นใจตรงกันคือเลือกเอาวันที่ สภาสตรีประชาธิปไตยนานาชาติกำหนดให้เป็นวันเด็กนานาชาติคือวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปี ให้เป็นวันเด็กของชาติตัวเอง ซึ่งใจตรงกันกับจีนที่เลือกเอาวันนี้เป็นวันเด็กด้วยเช่นกัน

ที่สปป.ลาว เรียกวันเด็กของอย่างน่ารักเลยว่า “วันเด็กน้อยสากล” นอกจากนี้เขายังกำหนด ให้วันที่ 1 มิถุนายนเป็นวันปลูกต้นไม้แห่งชาติของเขาอีกด้วย ดังนั้นในวันนั้นนอกจากเด็กๆจะได้สนุกสนานกับกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การแข่งขันกีฬา มีการแจกของเล่น อุปกรณ์การเรียน รวมไปถึงการได้รับการฉีดวัคซีนและหยอดยาแล้ว เด็กๆในสปป.ลาวยังจะได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ซึ่งก็ถือเป็นกิจกรรมสำคัญด้วย

ส่วนเวียดนาม นอกจากจะจัดวันเด็กในวันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีแล้ว ยังมีเทศกาลที่พ่อแม่ต้องให้เวลาให้กับลูกเป็นพิเศษอีกด้วย นั่นก็คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งเป็นวันไหว้พระจันทร์หรือ “เต็ด ตรุง ตู” เป็นช่วงเวลาในการให้ความสำคัญกับเด็กๆ โดยมาจากแนว ความคิดในสมัยก่อนว่าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวพ่อแม่มักจะทอดทิ้งลูกๆให้อยู่บ้านตามลำพังไม่ค่อยมีเวลาได้เอาใจใส่ลูกมากนัก เพราะต้องออกไปเกี่ยวข้าว ดังนั้นเมื่อหมดฤดูเก็บเกี่ยวพ่อแม่จึงต้องหาวิธีชดเชยเวลาที่ไม่ได้อยู่กับลูกๆ ไหว้พระจันทร์ของชาวเวียดนาม จึงมักจะมีเด็กๆ เป็นศูนย์กลาง เช่น มีการเชิดสิงโต การให้เด็กๆประดิษฐ์และจุดโคม ซึ่งเชื่อกันว่าโคมเป็นสัญลักษณ์แทนอนาคตของเด็กๆ ยิ่งโคมลอยสูงได้เท่าไหร่ เด็กก็จะยิ่งได้คะแนนในชั้นเรียนสูงมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งโคมที่ฮิตที่สุดในเทศกาลนี้คือโคมรูปดาว 6 แฉก นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนในเวียดนาม ก็จะมีการจัดประกวดเต้นรำพื้นเมือง เพื่อให้เด็กๆได้แต่งตัวสวยๆ ได้ทำกิจกรรมสนุกสนานและมีรางวัลเป็นทุนการศึกษาให้เด็กๆอีกด้วย

ช่วงหลังๆมานี่หลายสิ่งหลายอย่างในไทยเราอาจจะดูช้ากว่าประเทศอื่นไปบ้าง แต่เรื่องการจัดงานวันเด็กนี่เรายังครองแชมป์จัดเร็วกว่าใครๆ ใน AEC อยู่เหมือนเดิม

[smartslider3 slider="9"]