Amazing AEC – สงกรานต์กัมพูชา

0
609


“สงกรานต์” เป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า “ผ่าน” หรือ “เคลื่อนย้ายเข้าไป” หมายถึงเป็นวันที่พระอาทิตย์ผ่านหรือเคลื่อนย้ายจากราศี มีนเข้าสู่ราศีเมษในเดือนเมษายน ถือเป็นช่วงสงกรานต์ หากพระอาทิตย์เคลื่อนย้ายในช่วงเดือนอื่นๆจะถือเป็นการเคลื่อนย้ายธรรมดา สงกรานต์ถือเป็นประเพณีการขึ้นปีใหม่ที่ไม่ได้มีแค่ในประเทศไทยประเทศเดียว แต่มีทั้งในสปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา ชาวพุทธที่ อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของมาเลเซีย ชนกลุ่มน้อยชาวไตในมณฑลหยุนหนานของจีนและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย
สงกรานต์นั้นเป็นประเพณีซึ่งเริ่มมาจากวัฒนธรรมของอินเดีย ที่ทุกๆวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ตามปฏิทินจันทรคติ หรือราวๆดือน มีนาคมของทุกปี จะมี “เทศกาลโฮลี่” เทศกาลที่ชาวอินเดียที่นับถือศาสนาฮินดูจะนำผงสีมาสาดใส่กันเพื่อเป็นการอวยพรให้แก่กัน
สงกรานต์ที่กัมพูชาเรียกว่า “โจลชนัมขแมร์” ที่แปลว่า เข้าปีกัมพูชาหรือจะเรียกว่า “โจลชนัมทเมย” ที่แปลว่าเข้าสู่ปีใหม่ก็ได้ เทศกาลสงกรานต์ที่กัมพูชาจะจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 14-16 เมษายนของทุกปี อันที่จริงแล้วสงกรานต์กัมพูชานั้นมีมาก่อนไทยเราเสียอีก เพราะถูกบันทึกไว้ในศิลาจารึกกัมพูชาว่ามีเทศกาลสงกรานต์ในราชสำนักตั้งแต่ปีพ.ศ. 1600 ซึ่งตอนนั้นไทยเรายังอยู่ในยุคทวารวดี ยังไม่มีกลุ่มคนที่เรียกว่า คนไทย ยังไม่มีกรุงศรีอยุธยา ยังไม่มีกรุงสุโขทัย ตอนนั้นราชสำนักกัมพูชานับถือศาสนาพราหมณ์ก็เลย รับเอาพิธีกรรมต่างๆมาจากอินเดียรวมถึงเทศกาลสงกรานต์ และเมื่อคนกัมพูชาเข้ามาที่เมืองไทยวัฒนธรรมเหล่านี้ก็ตามเข้ามาด้วย
ประเพณีสงกรานต์กัมพูชาจึงคล้ายๆกับสงกรานต์บ้านเรา วันแรกจะเรียกว่าวันมหาสงกรานต์หรือวันปีใหม่ ในตอนเช้าคนกัมพูชา จะล้างหน้าด้วยน้ำมนต์เพื่อขอพรให้ตัวเองโชคดี หลังจากนั้นก็จะออกไปวัดไหว้พระทำบุญแล้วขนทรายเข้าวัดเพื่อเตรียมก่อเจดีย ส่วนวันที่สองเป็นวันครอบครัว เป็นวันที่ลูกๆจะได้มาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตา มีการให้เงิน ซื้อเสื้อผ้าให้ บางบ้านจะมีการแลกเปลี่ยน ของขวัญกัน พอตกค่ำก็ไปวัดเพื่อก่อเจดีย์ทราย นอกจากนี้ คนกัมพูชาบางส่วนก็ชอบที่จะไปทำบุญบริจาคให้กับคนยากจน คนด้อย โอกาสด้วย
พอถึงวันที่สามคนกัมพูชาก็จะไปสรงน้ำพระและรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล บางคนก็จะรดน้ำที่มือเหมือนในเมืองไทย บางคนก็จะรดให้ผู้ใหญ่ทั้งตัว เหมือนอาบน้ำให้อย่างไรอย่างนั้น โดยเด็กๆจะเอาน้ำมารดผู้ใหญ่จนเปียกโชกไปหมดทั้งตัวกันเลยที เดียว เสร็จแล้วจะมีการรำวงกัน ซึ่งรำวงเป็นที่นิยมอย่างมากของคนกัมพูชาทุกงานรื่นเริงจะต้องมีรำวง โดยฝ่ายชายต้องออกไปโค้ง เชิญฝ่ายหญิง และรำเป็นวงโดยให้ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายรำนำหน้า เมื่อรำเสร็จทั้งคู่ก็จะทำความเคารพกันเป็นการขอบคุณเหมือนๆไทยเรา ทั้งขั้นตอนและวิธีการรำ ล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาผมไปเที่ยว “ตลาดบึงเก็งกอง” ในกรุงพนมเปญ แม้จะยังไม่ถึงเทศกาล สงกรานต์ดี แต่เจ้าหน้าที่และพ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็เริ่มเปิดเพลงและรำวงกันอย่างสนุกสนานกันแล้ว
ในชวงสงกรานต์นี้ คนกัมพูชาบางส่วนก็จะนิยมเล่นเกม “จอนชูง” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้านที่เล่นกันเฉพาะในช่วงสงกรานต์เท่านั้น การเล่นจอนชูงนั้นจะแบ่งออกเป็นสองฝ่าย จะเป็นชายหญิงร่วมกันหรือแยกกันเป็นฝ่ายชายฝ่ายหญิงก็ได้แล้วแต่ตกลงกัน การเล่นนี้ ต้องเอาผ้ามาพันเข้ากันแล้วมัดไว้ให้มีที่จับ ฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายที่โยน “ชูง” ซึ่งหมายถึงผ้าที่มัดไว้ไปยังอีกฝ่าย ถ้าฝ่ายตรงข้ามรับชูง ได้ก็จะเอาชูงนั้นปาไปหาฝ่ายที่โยนใส่ ถ้าโดนใครคนนั้นต้องเข้ามายังฝ่ายที่ปาชูงไป ถ้าฝ่ายไหนได้คนเยอะกว่าก็จะเป็นฝ่ายชนะไป ส่วนฝ่ายที่แพ้จะต้องทำตามฝ่ายที่ชนะสั่ง โดยปกติแล้วฝ่ายแพ้จะต้องร้องเพลง เพื่อ ขอคนของทีมตัวเองกลับคืนมาจนครบ การเล่น จอนชูงนี้จะเล่นในตอนกลางคืนเท่านั้น ไม่นิยมเล่นในช่วงกลางวัน ความสุขสนุก สนานในแต่ละหมูบ้านจึงเกิดขึ้นพร้อมๆกัน บางคนก็ข้ามหมู่บ้านตัวเองเพื่อไปเล่นกับหมู่บ้านอื่นสลับกันไปมาอย่างมีความสุขในช่วงสงกรานต์ของทุกปี
ที่น่าอะเมซิ่งก็คือแม้จะเรียกสงกรานต์ว่าเป็นการเข้าสู่ปีใหม่ แต่กัมพูชากลับมาเปลี่ยนการนับปีพ.ศ.หลังวันวิสาขบูชา คือวันที่14 ถึง 16 เมษายนยังนับเป็นปีพ.ศ. 2561 อยู่จนถึงวันวิสาขบูชาวันที่ 29 เมษายนก็ยังเป็นพ.ศ. 2561 เหมือนไทย แต่พอวันรุ่งขึ้น 30 เมษายน ที่กัมพูชาจะขึ้นปีพ.ศ.ใหม่เป็นปีพ.ศ. 2562 แล้ว ดังนั้นถ้าคนกัมพูชานัดเราว่าเจอกัน 30 เมษายน พ.ศ. 2562 ให้ถามชัดๆว่าเป็นปีค.ศ. 2018 กำกับไว้ด้วยก็จะดี ไม่เช่นนั้นเขาคิดว่านัดปีนี้ แต่เราคิดว่าเขานัดปีหน้า อดเจอกันพอดี

[smartslider3 slider="9"]