เมื่อตอนที่องค์กรพัฒนาด้านการอ่านของเกาหลีใต้ เริ่มรณรงค์ให้เด็กนักเรียนอ่านหนังสือทุกๆเช้าวันละ 10 นาทีที่โรงเรียน ก่อนเริ่มเรียนหนังสือนั้น ก็มีคำถามที่น่าสนใจจากบรรดาคุณครูและผู้ปกครองทั้งหลายว่า ถึงกับต้องบังคับให้อ่านหนังสือ กันเลยทีเดียวหรือ? องค์กรฯ ก็ตอบอย่างน่าสนใจและมีเหตุมีผลว่าทุกเรื่องในระบบการศึกษาล้วนแต่เป็นการบังคับทั้งนั้น ไม่เห็นจะมีเรื่องอะไรเลยที่เด็กนักเรียนจะกำหนดหรือเลือกเองได้ พอมาถึงเรื่องการอ่านหนังสือ ทำไมจะไม่ต้องบังคับล่ะ?
คำถามต่อมาคงจะตรงกับใจท่านผู้อ่านหลายท่านคือ ให้เด็กๆอ่านเพียง ๑๐ นาทีแล้วจะมีประโยชน์หรือจะได้ผลจริงๆหรือ? คำตอบก็คือเวลาแค่ 10 นาทีก็พอแล้ว เพราะการอ่านหนังสือในตอนเช้านั้น ไม่ได้ต้องการให้เด็กๆอ่านเอาเรื่อง แค่ต้องการให้เป็นตัวช่วยอุ่นเครื่องให้เด็กๆพร้อมที่จะเรียนหนังสือในแต่ละวันเท่านั้น
องค์กรฯยังได้ทำวิจัยและได้พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า ไม่มีเด็กคนไหนเกลียดการอ่านหนังสือจริงๆมาตั้งแต่เกิด แต่ที่เด็กๆไม่ชอบอ่านหนังสือในตอนนี้ เป็นเพราะไม่สามารถเอาชนะหนังสือได้ อ่านไปก็ไม่รู้เรื่องก็เลยรู้สึกไม่ชอบและขยาดกับการอ่านหนังสือในที่สุด
ที่เกาหลีใต้เขาคิดว่าหนังสือนั้นมีชีวิตและพูดได้ หนังสือไม่เคยพูดจาว่าร้ายด้วยอารมณ์โกรธ ไม่ทำเมินเฉยเย็นชา หรือไม่เคยพูดว่าไม่รู้หรือดุด่าว่ากล่าวใครๆ ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องใดหนังสือก็ยินดีหาคำตอบให้โดยไม่เกี่ยงงอน ทั้งยังให้คำตอบกับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ดังนั้นในตอนแรกเด็กๆ อาจจะยอมอ่านหนังสือเพราะถูกคุณครูบังคับ ให้อ่าน แต่พอได้สัมผัสกับน้ำใจไมตรีทั้งหลายที่หนังสือหยิบยื่นให้ เด็กๆก็จะหันมาอ่านหนังสือด้วยความสมัครใจเอง
เมื่อเริ่มรณรงค์ให้เด็กๆอ่านหนังสือทุกเช้า 10 นาทีก่อนเริ่มเรียนหนังสือ เกาหลีใต้ พบว่าเมื่อเด็กๆได้อ่านหนังสือในตอนเช้า และเมื่อพวกเขาอ่านหนังสือเก่งขึ้น เพียงแค่เอาหนังสือติวเข้มมาอ่านก็จะรู้เรื่อง ทำให้เด็กจำนวนไม่น้อย ไม่ต้องไปเสียเงินเพื่อติวตามโรงเรียนกวดวิชาราคาแพงๆอีกต่อไป
องค์กรฯยังได้ข้อสรุปว่า ความสามารถในการอ่านหนังสือก็คือความสามารถในการเรียนนั่นเอง เพราะนับตั้งแต่วินาทีแรกที่สายตาเด็กมองไปที่หนังสือจะเป็นไปตามกระบวนการดังนี้ “รับรู้ตัวอักษร – สะกดคำ – เข้าใจความหมายของคำ – ระดมภูมิรู้ – เข้าใจประโยค – วิเคราะห์ – เปรียบเทียบ – ใช้วิจารณญาณ – สรุป – ใช้จินตนาการ – คาดคะเนตามหลักเหตุผล – วินิจฉัย – ใช้ความคิดสร้างสรรค์ – แก้ปัญหา”
ความสามารถในการอ่านดังกล่าวนั่นเองจะกลายมาเป็นความสามารถพื้นฐานในการเล่าเรียนวิชาความรู้ต่างๆในโรงเรียน เด็กที่อ่านหนังสือไม่เก่งกว่าที่พวกเขาจะเข้าใจบทเรียนได้ก็ต้องใช้เวลานานและเรียนหนังสือด้วยความลำบาก พอนานๆ เข้าก็จะทำเด็กพวกนั้นเกลียดการเรียนไปในที่สุด เช่นเดียวกับเด็กๆที่รู้คำศัพท์มากกับน้อย เด็กที่รู้คำศัพท์น้อยจะเรียน หนังสือรู้เรื่องได้ยากกว่าเด็กที่รู้คำศัพท์มากกว่า ซึ่งจะทำให้เด็กที่รู้คำศัพท์น้อยเกลียดการเรียนในที่สุด
เกาหลีใต้พบว่า เมื่อเริ่มรณรงค์ ครูเองก็มีความสุขเพราะในเวลานั้นครูก็จะหลุดพ้นจากภาระงานสอน ไม่ได้เป็นครูที่จะต้องคอยควบคุมดูแล แต่ครูจะกลายเป็นนักเรียนที่ต้องอ่านหนังสือ เด็กๆที่เห็นครูกำลังนั่งอ่านหนังสือก็จะมองดูครูด้วย สายตาที่แตกต่างออกไป ความรู้สึกใกล้ชิดกันก็จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ชั่วโมงอ่านหนังสือยามเช้าจะไม่มีเรื่องวุ่นวายหรือ เสียงดังเหมือนในชั่วโมงเรียน แต่จะมีความสงบ ยุติธรรมและเสมอภาคกัน ครูซึ่งได้อ่านหนังสือที่อยากจะอ่านใน บรรยากาศเช่นนี้ก็จะเป็นครูที่มีความสุข
ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจอีกมากซึ่งจะช่วยให้โรงเรียนหรือผู้ปกครองสามารถทำให้เด็กๆรักการอ่านหนังสือขึ้นมาได้ จากหนังสือ “10 นาทีมหัศจรรย์ยามเช้า สร้างลูกรักการอ่าน” ซึ่ง Nam Mi-Young เขียน และแปลโดยคุณกาญจนา ประสพเนตร ซึ่งผมจะสรุปมาให้อ่านกันต่อในอาทิตย์หน้า