Amazing AEC – อะเมซิ่งการเมืองฟิลิปปินส์

0
597

ผมไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งในฟิลิปปินส์มา มีอะไรหลายๆ อย่างที่น่าอะเมซิ่งเก็บเอามาฝากครับ

หนึ่ง คนมาใช้สิทธิ์จะต้องไปทำการบันทึกลายนิ้วมือคล้ายๆ กับตอนที่เราต้องไปทำพาสปอร์ตกับคณะกรรมการ จัดการเลือกตั้งเสียก่อน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีชื่ออยู่ในรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

สอง เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ตอนมาใช้สิทธิ์ นอกจากบัตรประชาชนแล้ว คนฟิลิปปินส์ต้องเอาบัตรประจำตัวอีกใบที่มีรูปถ่าย เช่นใบขับขี่ บัตรประจำตัวพนักงานหรือพาสสปอร์ตมาแสดงต่อคณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งด้วย และเมื่อใช้สิทธิ์เสร็จ หลายประเทศใช้วิธีจุ่มหมึก แต่ที่ฟิลิปปินส์ใช้วิธีที่ละเอียดขึ้นอีกคือเอาหมึกหยอดลงไปที่เล็บนิ้วชี้ขวาเพื่อให้หมึกซึมลงไปในเล็บจนยากแก่การล้างเพื่อมาเวียนเทียนใช้สิทธิ์อีก และเล็บที่เปื้อนหมึกนี้สามารถเอาไปซื้อกาแฟ ขนมนมเนยแบบได้ส่วนลดด้วยนะครับ เพราะมีหลายธุรกิจมีแคมเปญให้ส่วนลดกับคนที่ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งด้วย

สาม หน่วยเลือกตั้งฟิลิปปินส์เปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เช้ามากคือ เปิดกันตั้งแต่ 6 โมงเช้าและเปิดยาวไปจนถึง 5 โมงเย็นเลยทีเดียว และคนฟิลิปปินส์ก็ออกมาใช้สิทธิ์กันตั้งแต่ 6 โมงเช้าเสียด้วย

สี่ กฎหมายเลือกตั้งฟิลิปปินส์กำหนดให้หน่วยเลือกตั้งจะต้องตั้งอยู่ชั้นล่างและต้องมีทางลาดสำหรับรถเข็นของผู้สูงอายุและผู้พิการ แถมจะต้องมีช่องทางพิเศษให้คนกลุ่มนี้รวมถึงคนชนเผ่าที่เป็นคนกลุ่มน้อย ได้เข้าไปใช้สิทธิ์กันแบบไม่ต้องรอนานเหมือนคนทั่วไป น่ารักดี จะว่าไปแล้วฟิลิปปินส์นี่เขาให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุมากนะครับ เพราะถ้าถือบัตรผู้สูงอายุไปที่ทานข้าวหรือซื้อของที่ไหนก็จะมีส่วนลดให้ ขนาดไปเช็กอินสนามบินยังมีช่องพิเศษให้เช็กอินแบบวีไอพีอีกด้วย เห็นแล้วหลายคนชักอยากไปแก่ที่โน่นเลย

ห้า ฟิลิปปินส์จะกำหนดให้มีการเลือกตั้งหลายๆ ระดับพร้อมๆ กันทั้งตำแหน่งบริหารและนิติบัญญัติ ดังนั้นในการเลือกตั้ง แต่ละครั้งคนมาใช้สิทธิ์จึงต้องเลือกกันเป็นสิบๆ ตำแหน่ง แถมผู้สมัครในฟิลิปปินส์เมื่อมาสมัครไม่ว่าจะมาสมัครช้า หรือ เร็วก็จะไม่ได้เบอร์ประจำตัวผู้สมัคร เพราะกรรมการจัดการเลือกตั้งจะเรียงลำดับรายชื่อผู้สมัครทั้งหมดตามลำดับในตัวอักษร ภาษาอังกฤษ เอบีซีดี ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้อาจทำให้ผู้มาใช้สิทธิ์ไม่มีทางจำได้ว่าจะต้องเลือกใครบ้าง กฎหมายเลือกตั้ง ที่นั่นเลยอนุญาตให้ถือโพยรายชื่อคนที่เราอยากเลือกเข้าไปในคูหาเลือกตั้งได้ ใกล้ๆ คูหาเลือกตั้งก็เลยมีหัวคะแนนมายืนแจกโพยรายชื่อที่อยากให้เราเลือกมายืนกันเต็มไปหมด

หก เนื่องจากต้องเลือกหลายตำแหน่งมาก ใบลงคะแนนจึงเหมือนกระดาษคำตอบขนาดเอ 4 ที่เราใช้ระบายเลือกคำตอบ ในวงกลมเวลาสอบในวิชาต่างๆ ในคูหาเลือกตั้งก็เลยมีเก้าอี้ให้ผู้มาใช้สิทธิ์นั่งเลือกดูเผินๆก็เหมือนนักเรียนมาสอบ ยังไงยังงั้นเลย

เจ็ด เพราะเบอร์ไม่เป็นเรื่องสำคัญ ผู้สมัครจึงนิยมเล่นกับชื่อตัวเองเพื่อให้คนจำได้ง่ายขึ้น เช่น ดูเตอร์เต้ ว่าที่ประธานาธิบดี ที่ชื่อภาษาอังกฤษเขียนว่า DUTERTE ก็จะเขียนในโปสเตอร์และสื่อหาเสียงของตัวเองเป็น DU30 ซึ่งออกเสียงเป็น ดูเทอร์ตี้ คล้ายๆ ชื่อตัวเอง ส่วนคู่แข่งก็จะเรียกเขาว่า DUDIRTY หรือดูเตอร์เต้จอมสกปรกแทน

แปด กฎหมายเลือกตั้งที่นั่นอนุญาตให้แจกของมูลค่าถูกๆ ไม่กี่สิบบาทได้ ริสต์แบนด์ที่มีชื่อผู้สมัครพร้อมสโลแกน จึงเป็นของที่ผู้สมัครนิยมแจกกันมาก ใครรักใครชอบใครเจอหน้ากันก็ยกข้อมืออวดใส่กันไปเลย

[smartslider3 slider="9"]