Amazing AEC – อะเมซิ่งเลือกตั้งอินโดนีเซีย (จบ)

0
569

อาทิตย์ที่แล้วผมเริ่มต้นเอาไว้ว่าแม้ว่าการเลือกตั้งของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 17 เมษายนที่เพิ่งผ่านไป แม้ว่าจะเป็นการเลือก ตั้ง วันเดียวที่สลับซับซ้อนมากที่สุดในโลกเพราะมีคนใช้สิทธิ์ 190 ล้านคน ผู้สมัคร 250,000 คน มีหน่วยเลือกตั้ง 800,000 หน่วย ใน 6,000 เกาะ ใช้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง 6 ล้านคน เป็นการเลือกตั้งพร้อมๆกัน 5 ระดับ ตั้งแต่ตำแหน่งประธานาธิบดีลงไปถึงสมาชิกสภาท้องถิ่น ใช้งบประมาณสูงถึง 60,000 ล้านบาท แต่ก็จัดการได้เรียบร้อยอย่างน่าอะเมซิ่ง

นอกจาก Quick Count ที่สถาบันวิจัยมีส่วนร่วมโดยการสุ่มตัวอย่างหน่วยเลือกตั้ง และไปร่วมนับคะแนนแล้วนำมาคำนวณโดยใช้หลักวิชาสถิติ ที่ทำให้รู้ผลการเลือกตั้งภายใน 1 ถึง 2 ชั่วโมงหลังปิดหีบ และช่วยป้องกันการโกงคะแนนในอินโดนีเซียอย่างได้ผลมาหลายครั้งแล้ว การตรวสอบและถ่วงดุลอำนาจ หรือ Check and Balance ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้การจัดการเลือกตั้งในอินโดนีเซียมีความโปร่งใสมากกว่าในเมืองไทย

เริ่มกันที่คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง ( KPU) ของอินโดนีเซียซึ่งใครๆก็สามารถสมัครได้ถ้าคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ ประธานาธิบดีจะเลือกให้เหลือ 14 คน ก่อนจะส่งรายชื่อเข้าสู่สภาเพื่อเลือกให้เหลือ 7 คน ซึ่งในขั้นตอนที่ประธานาธิบดี และสภาเลือกนี้ จะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าผู้สมัครแต่ละคนมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เป็นคนของใคร ทำให้สื่อมวลชน ประชาชนและพรรคการเมืองร่วมรับรู้ด้วยว่าใครเป็นใคร

เมื่อได้ตัว KPU ทั้ง 7 แล้ว KPU มีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ถ้ามีอะไรที่จะต้องตัดสินใจมากไปกว่าการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อยจะมีการการตรวสอบและถ่วงดุลอำนาจโดยองค์กรอื่น ซึ่งเรื่องนี้ที่แตกต่างไปจากเมืองไทยอย่างมาก เพราะกกต.ไทยจัดเลือกตั้งเอง ใช้ดุลยพินิจเอง และตัดสินเอง

ในอินโดนีเซีย เมื่อมีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง คณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (KPU) และตำรวจจะเป็นคนจัดการ
แต่เมื่อมีข้อสงสัยว่าจะมีการละเมิดจริยธรรมในการจัดการเลือกตั้ง จะมีองค์กรที่เรียกว่า สภากิตติมศักดิ์ด้านบริหารการ เลือกตั้ง ( DKPP) เป็นองค์กรที่ใช้ดุลยพินิจตัดสินว่ามีการละเมิดจริยธรรมดังว่าหรือไม่?

เมื่อมีข้อขัดแย้งกันระหว่างผู้สมัครกับ KPU หรือ กกต.ของอินโดนีเซีย จะมีองค์กรที่เรียกว่า คณะกรรมการสอดส่องดูแล การเลือกตั้งระดับชาติ (BAWASLU) จำนวน 5 คนและงบประมาณอีกมหาศาล ที่จะคอยสอดส่องดูแลการเลือกตั้งตามชื่อ และมีอำนาจสั่งจัดการเลือกตั้งใหม่หรือนับคะแนนใหม่เมื่อมีข้อสงสัยหรือความขัดแย้งเกิดขึ้น ในงบ 60,000 ล้านบาท ของการจัดการเลือกตั้งคราวนี้ BAWASLU ได้งบประมาณไปเกือบ 20,000 ล้านบาท มากพอที่จะจ้างเจ้าหน้าที่มาคอย สอดส่องดูแลการเลือกตั้งให้โปร่งใสได้

แตกต่างไปจากเมืองไทยที่กกต.เป็นคนจัดการเลือกตั้งเอง จึงไม่มีวันที่จะโทษตัวเองว่าจัดการไม่ดีหรือนับคะแนนไม่ดี แต่ในอินโดนีเซียมีองค์กร BAWASLU ที่เข้มแข็งมาคอยตรวจสอบกกต.ว่าจัดการเลือกตั้งได้ถูกต้องโปร่งใสหรือไม่ สมควรต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือต้องนับคะแนนใหม่หรือไม่? ผู้สมัครจึงได้รับความยุติธรรมมากขึ้น

ถ้ามีข้อสงสัยเรื่องผลการเลือกตั้ง และการให้ใบเหลืองใบแดง ศาลรัฐธรรมนูญของอินโดนีเซียจะเป็นคนตัดสิน แตกต่างไปจากเมืองไทยที่กกต.เป็นคนตัดสินเอง ดังนั้นผู้สมัครก็จะยิ่งได้รับความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น และกกต.หรือ KPU ก็จะ โดนตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจมากยิ่งขึ้น

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญไม่โปร่งใส ตัดสินบนพื้นฐานการทุจริต ปปช.ของอินโดนีเซียที่ชื่อคณะกรรมการถอนรากถอนโคนคอรัปชั่น หรือ KPK ก็จะเป็นคนเช็คบิลล์ศาลรัฐธรรมนูญเอง ในอดีตเมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญขี้โกงรับเงินจาก นักการเมือง KPK ก็เคยบุกไปจับประธานศาลรัฐธรรมนูญคาบ้านและส่งเข้าคุกให้ดูมาแล้ว

แต่ถ้า KPK ทำงานไม่โปร่งใส ก็จะโดนสื่อมวลชนตรวจสอบและแฉ ประชาชนก็จะมาเล่นงาน KPK อีกที

[smartslider3 slider="9"]