Amazing AEC – เข้าพรรษากับพุทธตัวพ่อ

0
573

วันนี้จะพาไปดูการทำบุญเข้าพรรษาที่เมียนมาให้รู้กันเสียทีว่าทำไมคนเมียนมาจึงเขาได้เป็น “พุทธตัวพ่อ” กันครับ

เริ่มกันตั้งแต่การถอดรองเท้าเข้าวัดซึ่งยังเข้มแข็งและยังทำกันอยู่ทุกสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา และที่ผมว่าเป็นสุดยอดของความเป็นพุทธตัวพ่อก็คือ ที่นั่นเขาไม่นิยมสวมใส่พระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเขาถือว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงกระพี้ไม่ใช่ “แก่น” ของพระพุทธศาสนา เวลาเขาไปไหว้พระหรือพระเจดีย์ เขาจะไปไหว้ไปสวดมนต์ เขาจะไม่อธิษฐานขออะไรเยอะแยะ เช่น ทำบุญ 20 อธิษฐานขอ 2 ล้านเหมือนที่คนไทยส่วนใหญ่ชอบทำ เวลาไปวัดหรือพระเจดีย์เขาจะไปเพื่อการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ทำบุญหรือกระทั่งนั่งเล่นนอนเล่นรอบๆ เหมือนกับคนไทยชอบไปนั่งเล่นในห้างสรรพสินค้านั่นเอง แต่ที่เราเห็นมีพวกเครื่องรางของขลังวางขายอยู่นั้น ผมสอบถามดูแล้วพบว่าคนขายเขาบอกว่า มีคนไทยมาสอน สอนให้ทำเอาไว้ขายคนไทยที่มาไหว้พระครับ บางเจ้าก็เป็นของที่คนไทยทำมาให้ขาย พวกเขาเองไม่นับถือและไม่นิยม แต่ถ้าคนไทยอยากได้และพร้อมจ่ายเขาก็พร้อมจะทำขายให้ได้ ฟังแล้วขำปนเศร้ากับความเป็นพุทธแบบไทยๆ เราดีนะครับ ที่น่าสนใจอีกเรื่องก็คือเวลาเขาจะขอจะอธิษฐาน เขาจะไปขอกับ “ผี” ครับ ผีหรือเจ้าที่เจ้าทางของเขาที่คนไทยเรารู้จักดีแต่ยกย่องและเรียกเป็นเทพก็เช่น “เทพทันใจ” หรือ “เทพกระซิบ” นั่นแหล่ะครับ

ทุกวันพระ คนเมียนมาเขาจะไปทำบุญและฟังเทศน์ฟังธรรมที่โรงธรรมะหรือ “ด่ะหม่ะโย่ว” ในภาษาเมียนมา ที่ทางการสร้างไว้ให้ในทุกหมู่บ้าน แถมยังถือศีล 8 ศีล 10 อีกด้วย เช่นเดียวกับช่วงเข้าพรรษาที่คนส่วนใหญ่จะถือศีล 8 ศีล 10 กันยาวเต็มพรรษา และยังมีอีกไม่น้อยที่จะกินเจในช่วงนี้ด้วย กินเจยาว 3 เดือนกันเลยทีเดียว ที่น่าอะเมซิ่งยิ่งกว่านั้น ก็คือในช่วงเข้าพรรษาคนเมียนมาเขาจะไม่จัดงานมงคลใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นงานแต่งงาน งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เปิดบริษัทใหม่ ฯลฯ เหตุผลก็ง่ายๆ ตรงๆ คือเพราะเขาจะได้ไม่ต้องนิมนต์พระออกจากวัด ไม่ต้องรบกวนเวลาพระสงฆ์ ที่ควรใช้เพื่อการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าอย่างเต็มที่ในช่วงนี้

เมื่อไม่มีงานเลี้ยงงานทำบุญต่างๆ ในช่วงนี้ การค้าขายของห้างร้านค้าจึงเงียบเหงากว่าช่วงอื่นๆ เมื่อถึงวันออกพรรษา ห้างร้านต่างๆ จึงรีบแข่งกันจัดกิจกรรมลดแลกแจกแถมและกิจกรรมส่งเสริมการขายทั้งหลาย โดยจะเริ่มกันตั้งแต่วันออกพรรษาเลยทีเดียวซึ่งเรียกว่า “ตะดิงจุ๊ดเซลส์” หรือออกพรรษาเซลส์นั่นเอง และถือเป็นเทศกาลขายที่สำคัญที่สุดของปี สำหรับทุกห้างร้านในเมียนมาเลยทีเดียว และที่ต่างไปจากไทยเราอีกอย่างก็คือในเมียนมานั้นงานทำบุญวันออกพรรษานั้นจะดูคึกคักและจริงจังกว่างานทำบุญเข้าพรรษาอยู่มาก

เวลามีงานทำบุญใหญ่ เราจะเห็นคนเมียนมาเขาแต่งกายแล้วจะมีผ้าสะพายบ่าพาดจากบ่าด้านซ้ายไปยังเอวด้านขวา เพราะเขามีความเชื่อว่ามงคลของผู้ชายอยู่ที่บ่าขวา ส่วนมงคลของผู้หญิงอยู่ที่ผม ผู้หญิงเมียนมาจึงนิยมไว้ผมยาว ส่วนบ่าซ้ายนั้น ถือเป็น “กิเลส” ในงานบุญใหญ่ๆ ทั้งหญิงและชายจึงต้องเอาผ้ามาสะพายพาดบ่าซ้ายเอาไว้ ถือเป็นเคล็ดว่าเป็นการกดกิเลส เอาไว้ไม่ให้มันฟูหรือมีมากในช่วงนั้น และที่แปลกตาก็คือในตอนเช้าเวลาเดินบิณฑบาตนั้น พระเมียนมาจะถือพัดใบตาลมาด้วย ซึ่งก็คือ “ตาลปัตร” ของบ้านเรานั่นเอง คำว่าตาลปัตรถ้าแปลตรงตัวแล้วก็จะหมายถึงพัดที่ทำจากใบตาลนั่นเอง และที่พระต้องถือพัดใบตาลก็เพื่อที่จะเอาไว้บังไม่ให้พระมองเห็นในสิ่งที่พระไม่ควรจะมองนั่นเอง รวมไปถึงเอาไว้บัง ไม่ให้มองเวลาผู้หญิงมาตักบาตรด้วย น่าอะเมซิ่งที่เขายังรักษาแนวคิดของตาลปัตรแต่เดิมซึ่งมีเอาไว้พัดคลายร้อนเฉยๆ ไว้ได้อย่างใกล้เคียง ส่วนเมืองไทยเรามีการพัฒนาตาลปัตรไปไกลมากทั้งรูปแบบและวิธีการใช้

และที่ทั้งเมียนมา กัมพูชาและสปป.ลาว มีเหมือนกันแต่ต่างจากไทยเราก็คือธงศาสนาครับ ขณะที่เราใช้ธงธรรมจักร ทั้งสามประเทศนี้ใช้ธงพุทธศาสนาสากลหรือธงฉัพพรรณรังสี ซึ่งเป็นธง 6 สี ที่แต่ละสีมีความหมายถึงคำสอน ทางสายกลาง และพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าครับ

[smartslider3 slider="9"]