Amazing AEC – เชียงรายรำลึก

0
554



ช่วงนี้ผมเดินทางบ่อยครับเพราะมีงานสัมมนาน่าสนใจหลายๆ อันที่จัดกันในต่างจังหวัด แต่ที่ไปบ่อยเป็นพิเศษคือ เชียงรายครับ
อย่างล่าสุดที่ไปเชียงราย ผมก็ไปร่วมสัมมนาและบรรยายให้กับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ในงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้มีการเชิญตัวแทนของ สปป.ลาว เมียนมา และจีนตอนใต้มาร่วมด้วย เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงรายนั้นถือว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพสูงเพราะ เป็นเมืองการค้าชายแดนที่สามารถสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ในระดับต้นๆ ทีเดียว เหตุผลก็คือเชียงรายนั้นมีจุดผ่านแดนถาวรเชื่อมโยงกับสปป.ลาว 3 จุด และเชื่อมโยงกับเมียนมาอีก 3 จุด รวมเป็น 6 จุด เลยทีเดียวแถมยังเป็นประตู ในการเชื่อมโยงไทยไปถึงจีนตอนใต้อีกด้วย

การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นได้เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐและเอกชนของพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดเจ้าภาพ ดังนั้นในการสัมมนาครั้งนี้จึงมีผู้บริหารระดับสูงของจังหวัดแพร่ น่าน พะเยา เข้ามาร่วมกับจังหวัดเจ้าภาพเชียงราย และที่พิเศษคือมีตัวแทนจากเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และเขตเศรษฐกิจบ่อเต็นของ สปป.ลาว และตัวแทนจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก และจังหวัดเชียงตุงของเมียนมา และตัวแทนจาก อ.ผูว์เอ้อร์ มณฑลหยุนหนาน โดยมี ม.แม่ฟ้าหลวงเป็นทีมสนับสนุนที่เข้มแข็งสุดๆ และมีคุณประธาน อินทรีย์ยงค์เป็นผู้ประสานงานหลักที่ยอดเยี่ยม

นอกจากการบรรยายในห้องรวมซึ่งผมมีโอกาสร่วมบรรยายนั้น ผมได้เน้นวิธีการที่บรรดาผู้เกี่ยวข้องในสี่ประเทศที่เข้าร่วมสัมมนาจะได้หยิบจับเอาไปใช้เพื่อพวกเราในนามอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงจะได้ผนึกแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ซึ่งประเด็นสำคัญของผมก็คือความจริงใจที่แต่ละประเทศต้องมีให้แก่กันและกัน โดยประเทศไทยควรจะเป็นคนที่ต้องเริ่มต้นก่อน รวมถึงวิธีการที่ไทยและกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม CLMV ควรจะเอาไปเจรจาต่อรองกับจีนซึ่ง ใหญ่กว่าพวกเราห้าประเทศรวมกันมากนัก ที่พิเศษคือวิทยากรอีกท่านคือ อ.กริช อึ้งวิฑูรย์สถิตย์ กูรูตัวจริงก็ได้มาชี้ทางสว่างการทำตลาดในเมียนมาแบบเจาะลึกอีกด้วย
นอกจากนั้นในงานนี้มีการระดมความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนของทั้งสี่ประเทศในสามหัวข้อด้วยกันคือ หนึ่ง สี่เหลี่ยมเขตเศรษฐกิจกับความร่วมมือในการบริหารจุดแข็งร่วมกัน สองความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน ของเส้นทาง อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) และ ความร่วมมือล้านช้าง แม่โขง (Lancang-Mekong Cooperation : LMC) และสามความร่วมมือด้านเส้นทางการท่องเที่ยวและไมซ์เส้นทาง GMS และ LMC คำว่า “ล้านช้าง” นี่ก็คือแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในจีนนะครับ เพราะจีนเขาเรียกแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในประเทศเขาว่า “ล้านช้าง” ครับ
ที่น่าสนใจก็คือในการสัมมนาครั้งนี้มีชาวบ้านจากสามชุมชนคือจากบ้านห้วยไคร้ บ้านห้วยแก้ว และบ้านปางขอนเข้ามา ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และความเห็นกับผู้เชี่ยวชาญ “ชา” จากผูว์เอ้อร์ หยุนหนาน และไต้หวันอีกด้วย เพราะที่เชียงรายนั้นเขามีของดีคือ “ชาอัสสัม” ที่ได้ต้นพันธุ์มาจากอินเดียมานานกว่า 100 ปี แถมมีการดูแลแบบออแกนิกส์อีกด้วย ดีหรือไม่ดีก็แค่เซียนชาจากผูว์เอ้อร์กับไต้หวันถึงกับตื่นเต้นเลยก็แล้วกันครับ พอเซียนชาสามประเทศได้เจอกันการค้าและความร่วมมือก็เลยเริ่มต้นอย่างงดงาม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของคุณจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ TCEB ซึ่งต้องการจะให้การจัดสัมมนาเช่นนี้ได้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อรากหญ้าหรือ SMEs ในพื้นที่ซึ่งมีการจัดงาน มากกว่าจะให้เป็นการจัดการสัมมนาผลาญงบไปวันๆ
ไม่แน่นะครับ หลังจากที่คนไทยไปเที่ยวหยุนหนานและต้องเดินหาซื้อชาผูว์เอ้อร์มาดื่ม อีกไม่นานเราอาจจะมีโอกาสได้เห็นคนหยุนหนานและคนไต้หวันมาเที่ยวเชียงรายและต้องเดินหาซื้อชาอัสสัมออแกนิคซื้อเอากลับไปดื่มก็เป็นได้

[smartslider3 slider="9"]