Amazing AEC – เมื่อต่างชาติทิ้งไทย (จบ)

0
518

สองอาทิตย์ที่แล้วผมสรุปงานวิจัยของ KKP Research ของกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร “ทำไมต่างชาติขายหุ้นไทย (ไม่หยุด)” ซึ่งสะท้อนภาพที่น่าตกใจว่าไม่ใช่แค่นักลงทุนต่างชาติจะทิ้งหุ้นไทยที่นับย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ. 2556 พบว่าต่างชาติได้ขายสุทธิหุ้นไทยไปแล้วมากกว่า 8 แสนล้านบาทเท่านั้น แต่ต่างชาติยังทยอยทิ้งประเทศไทยในฐานะที่เป็นฐานการผลิตอีกด้วย เพราะจากที่ไทยเคยครองแชมป์ดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ FDI ในอาเซียน เคยครองสัดส่วน FDI ในอาเซียนที่ 44% แต่วันนี้เราแพ้อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซียและฟิลิปปินส์ไปแล้ว เพราะเรามีสัดส่วน FDI เพียง 14% เท่านั้นเอง วันนี้ขอมาต่อให้จบ

อีกหนึ่งปัจจัยที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะในช่วงที่การส่งออกและการท่องเที่ยวตกต่ำเช่นในปัจจุบันคือ สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP จะพบว่าจากเดิมที่สัดส่วนดังกล่าวเคยอยู่ที่ระดับ 40% เศษๆในช่วงปีพ.ศ. 2542-2548 ปัจจจุบันสัดส่วนนี้กลับลดลงอยู่ที่ระดับ 20-25% ต่ำกว่าสัดส่วนเดียวกันของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูงซึ่งมีสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP อยู่ที่ 30.5% และต่ำกว่าสัดส่วนดังกล่าวของเวียดนาม 27% อินโดนีเซีย 34% และจีน 43%

เมื่อพิจารณาค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุน Capital Expenditure ก็จะเห็นการชะลอตัวลงอย่างชัดเจน การเติบโตของค่าใช้จ่ายสำหรับการลงทุนของบริษัททั้งหมดในตลาดหุ้นไทยลดลงจากค่าเฉลี่ยที่ปีละ 16% ในช่วงปีพ.ศ. 2547-2552 ลดลงเหลือเพียงปีละ 1.6% โดยอุตสาหกรรมที่ลดการลงทุนลงมากได้แก่ กลุ่มพลังงาน การก่อสร้าง การขนส่ง IT Distributor อิเลกทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ จึงทำให้เกิดคำถามตามมาว่าเอกชนไทยไม่ลงทุนกันแล้วหรืออย่างไร? คำตอบก็คือเอกชนไทยยังลงทุนกันอยู่แต่เป็นการไปลงทุนในต่างประเทศแทนการลงทุนในประเทศ

Amazing AEC - เมื่อต่างชาติทิ้งไทย (จบ)
ที่มา https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=6668filename=QGDP_report

KKP Research  วิเคราะห์ว่าปัจจัยที่ฉุดรั้งการลงทุนในไทยมี 3 ปัจจัยด้วยกันคือ

หนึ่ง) ผลตอบแทนจากการลงทุนในไทยอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นเพราะตลาดในประเทศไม่โตเนื่องจากไทยเราเข้าสู่สังคมสูงวัย การรวยกระจุกจนกระจายซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อของคนไทยลดลง สินค้าและบริการของไทยไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนไป ต้นทุนแรงงานในไทยสูงขึ้นและการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะตรงความต้องการของธุรกิจในอนาคตและค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ามาโดยตลอดจากปัญหาโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย

สอง) ภาคธุรกิจไทยขาดแรงจูงใจในการแข่งขันและขาดโอกาสในการลงทุน ซึ่งเกิดจากนโยบายภาครัฐที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม แต่กลับเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นเจ้าตลาด ทำให้ธุรกิจไทยขาดแรงจูงใจในการลงทุนสร้างนวัตกรรม เพราะธุรกิจรายใหญ่ซึ่งเป็นเจ้าตลาดเดิมไม่ต้องลงทุนในนวัตกรรมก็ยังสามารถครองตลาดได้ไม่มีใครมาแข่ง ส่วนธุรกิจหน้าใหม่ก็ไม่อยากลงทุนในนวัตกรรมเพราะลงทุนไปก็แข่งไม่ได้ ลงทุนอย่างไรก็ไม่ชนะเพราะนโยบายภาครัฐเอื้อรายเก่ามากกว่า ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจทั้งรายใหม่และรายเก่าต่างก็ไม่ลงทุนในการสร้างนวัตกรรม ส่งผลให้ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมของไทยยังต่ำอยู่มาก แพ้มาเลเซีย เวียดนามและโดนสิงคโปร์ทิ้งไกลห่าง นอกจากนี้การลงทุนของภาครัฐที่เน้นให้เม็ดเงินลงเร็ว เน้นการกระตุ้นอุปสงค์เป็นหลัก มากกว่าที่จะไปเน้นลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกิจ สร้างโอกาสในการต่อยอดและขยายการลงทุนของภาคเอกชน

สาม) ความไม่มีเสถียรภาพของนโยบายเศรษฐกิจซึ่งเกิดจากความขัดแย้งทางการเมืองและการปรับเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย ส่งผลให้นโยบายต่างๆขาดความต่อเนื่อง ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างความไม่แน่นอนต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยในอนาคต เป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจลงทุนของธุรกิจไทยและต่างชาติ KKP Research ซึ่งสร้างดัชนีความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจและดัชนีความไม่แน่นอนด้านการเมือง พบว่าความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละครั้งมักส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น บั่นทอนความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว

โดยสรุป การที่นักลงทุนต่างชาติทิ้งไทยนั้นไม่ใช่เรื่องภาวะตลาดระยะสั้นหรือยาว หรือเป็นผลกระทบของโควิด-19 แต่เป็นผลที่มาจากการขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตที่กำลังถูกรุมเร้าด้วยปัญหาโครงสร้างในหลายมิติ ที่สำคัญคือระดับการลงทุนของไทยซึ่งต่ำมานานและไม่กระจายตัว สร้างผลลบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในด้านการเติบโตในระยะยาวและความเปราะบางของโครงสร้างเศรษฐกิจและแรงงาน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลกของประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

[smartslider3 slider="9"]