Amazing AEC – แหวนแม่นาฬิกาเพื่อน

0
676

สวัสดีปีใหม่ครับ เริ่มต้นปีใหม่นี้ผมขอเริ่มต้นด้วยบทความที่อาจจะหนักไปซักนิด แต่ก็จะเป็นประโยชน์และเป็นกำลังใจ สำหรับคนที่คิดว่าการปราบคอร์รัปชันในเมืองไทยคงจะเป็นเรื่องที่ยากเกินแก้ไข ถ้าเรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ประเทศที่เป็นสังคมอุปถัมภ์เหมือนไทยและเคยล่มสลายเพราะการคอร์รัปชันมาแล้วแต่วันนี้เขาแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้สำเร็จแล้ว เขาจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร

เกาหลีใต้นั้นเคยเอาโมเดลการปราบคอร์รัปชันของฮ่องกงซึ่งถือเป็นต้นแบบโมเดลที่ใช้ปราบคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพจนหลายประเทศนำเอาไปใช้บ้าง แต่เมื่อเกาหลีใต้เอา “ฮ่องกงโมเดล” มาใช้กลับล้มเหลวด้วยสองเหตุผลคือหนึ่งการคอร์รัปชันในเกาหลีใต้นั้นเป็นการคอร์รัปชันแบบบูรณาการคือรัฐบาล นักการเมือง และธุรกิจขนาดใหญ่ร่วมกันฮั้ว ร่วมกันโกง และสอง สังคมเกาหลีใต้เป็นสังคมอุปถัมภ์ คนที่รู้จักกันมีบุญคุณต่อกันมักจะไม่แฉกันไม่เปิดโปงกัน ผู้น้อยก็ไม่กล้าแฉผู้ใหญ่ แม้ว่าจะรู้จะเห็นการโกง การปราบคอร์รัปชันโดยใช้ “ฮ่องกงโมเดล” ในเกาหลีใต้จึงล้มเหลวเพราะไม่มีใครแจ้งเบาะแสการโกง คนใกล้ชิด หรือทีมงานก็ไม่กล้าแจ้งเบาะแส คนที่ร่วมกันโกงต่างก็ช่วยกันปกปิดซึ่งกันและกัน โกงกันไปโกงกันมาจนประเทศล่มสลาย เกาหลีใต้จึงตัดสินใจปฏิรูปสร้างระบบการปราบคอร์รัปชันให้เป็น “เกาหลีใต้โมเดล”

“เกาหลีใต้โมเดล” พยายามที่จะแก้ไขปัญหาสังคมอุปถัมภ์ที่ไม่มีใครแฉใคร สังคมที่ไม่มีใครอยากแจ้งเบาะแสการโกงถึงแม้จะรู้จะเห็นก็ตาม สุดท้ายเกาหลีใต้ก็เรียนรู้ว่าคนที่จะแฉการโกงได้ดีที่สุดก็คือคนใกล้ตัวหรือทีมงานนั่นเอง เพราะอยู่ใกล้ชิดและทำงานร่วมกัน ย่อมจะรู้เห็นความเป็นไปเป็นมาและเบาะแสการโกงได้ดีกว่าคนภายนอก ดังนั้นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ใช้ปราบการโกงในสังคมอุปถัมภ์ของเกาหลีใต้โมเดลก็คือ “เกลือเป็นหนอน”

“เกลือเป็นหนอน” เป็นยุทธศาสตร์ที่บีบบังคับให้คนใกล้ตัวหรือทีมงานต้องรีบ “แจ้ง” การคอร์รัปชันทันที เมื่อได้รู้เห็น หากคนใกล้ตัวหรือทีมงานทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้หรือช่วยปิดบังข้อมูล หากคนโกงถูกจับได้ ACRC ซึ่งเป็นหน่วยงานปราบคอร์รัปชันของเขาจะลงโทษคนใกล้ตัวและทีมงานอย่างหนักข้อหาไม่แจ้งเบาะแสในทางตรงกันข้าม หากคนใกล้ตัวหรือทีมงานแจ้งเบาะแสให้กับ ACRC เมื่อคดีสิ้นสุดและผู้คอร์รัปชันโดนลงโทษ ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับรางวัล “เกลือเป็นหนอน” จึงทำให้คนเกาหลีที่รู้เห็นการโกงต้องรีบแจ้งเบาะแสการโกงเพราะพวกเขาไม่ต้องการจะโดนลงโทษไป พร้อมๆ กับคนที่โกง การแจ้งเบาะแสนอกจากจะทำให้เขาปลอดภัยแล้วยังทำให้เขาได้รางวัลจากการแจ้งอีกด้วย

ดังนั้นหากเรื่องแหวนนาฬิกานี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ เราจะได้เห็นทีมงานผู้สวมแหวนและนาฬิกาโดนลงโทษอย่างหนัก และบางทีเราอาจจะได้เห็นเพื่อนร่วมรัฐบาลที่มีภาพหัวเราะกันกิ๊กกั๊กๆ โดนลงโทษด้วยเช่นกัน

ถ้าเรื่องแหวนแม่นาฬิกาเพื่อนนี้เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ป่านนี้ ACRC คงจะเข้าไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของการซื้อขายแหวนและนาฬิกาดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้ว เพราะนาฬิกาแพงๆ เหล่านี้จะมีหมายเลขประจำเครื่อง ดังนั้นจึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ทันทีว่าซื้อที่ไหนและเมื่อไหร่? ถ้าผู้สวมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อเอง หน่วยงานก็สามารถตรวจสอบเส้นทางเงินของผู้สวมได้ว่าเอาเงินส่วนไหนไปซื้อ หากเส้นทางการเงินไม่สอดคล้องกับคำอ้าง หน่วยงานก็สามารถจัดการจับกุมผู้สวมได้ทันที หากผู้สวมอ้างว่าเป็นนาฬิกาเพื่อนจริงอย่างข่าวที่ออกมา หน่วยงานก็สามารถไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของเพื่อนผู้สวมได้ ซึ่งคนทั้งประเทศก็จะรู้ได้ทันทีว่าเป็นนาฬิกาของเพื่อนจริงหรือไม่?

ทุกประเทศทั่วโลกรวมถึงเกาหลีใต้ที่ปราบคอร์รัปชันสำเร็จจะต้องเริ่มต้นด้วย “การปราบคอร์รัปชัน” จับกุมผู้คนโกงอย่างรวดเร็วและลงโทษอย่างหนักจนทุกคนในประเทศเกิดความเชื่อมั่นในหน่วยงานและพร้อมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ ปราบจนทุกคนในประเทศรู้สึกว่า “อย่าโกงเลยเดี๋ยวโดนจับได้แล้วจะโดนลงโทษอย่างหนัก ไม่คุ้มหรอก” แต่หน่วยงานปราบปรามคอร์รัปชันของไทยกลับเลือกใช้วิธี “ปรามและรณรงค์” ซึ่งหลายสิบปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์ตัวเองไปแล้วว่า “ล้มเหลว” ในการจัดการคนโกง แต่หน่วยงานของไทยก็ยังยึดติดวิธีคิดแบบเดิมๆ โดยหวังว่าจะได้ผลแบบใหม่

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ

[smartslider3 slider="9"]