เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา Asian Development Bank หรือ ADB เพิ่งจะปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ ซึ่งดูการคาดการณ์แล้วน่ากังวลยิ่งนักเพราะ ADB ปรับการคาดการณ์การณ์เติบโตเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้เป็น -8.0% จากเดิมคาดจะ -6.5% ติดลบมากที่สุดในอาเซียน ทั้งที่ควบคุมโควิด-19 ได้ดีมาก มีคนติดเชื้อแค่ 3,490 คน มีคนติดเชื้อน้อยเป็นอันดับที่ 129 ของโลก จาก 200 กว่าประเทศทั่วโลก
ฟิลิปินส์ซึ่งมีการติดเชื้อโควิดมากเป็นอันดับที่ 21 ของโลก 276,298 คน ช่วงหลังๆแม้จะมีคนติดเชื้อเพิ่มวันละสามสี่พันคน แต่เศรษฐกิจจะติดลบแค่ 7.3% ติดลบน้อยกว่าไทย แต่ถ้ายังคุมอัตราการติดเชื้อไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะติดลบมากกว่าไทย เพราะการคาดการณ์ทั้งสองครั้งที่ผ่านมาในเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายนนั้น ADB คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะ +2.0% และ -3.8 ตามลำดับ
อินโดนีเซียซึ่งเคยติดเชื้อมากที่สุดในอาเซียนแต่ตอนนี้โดนฟิลิปปินส์แซงไปแล้ว เพราะล่าสุดมีคนติดเชื้อโควิด 232,628 คน ADB คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต -1.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนในเดือนมิถุนายน ขณะที่สิงคโปร์ที่มีผู้ติดเชื้อโควิดมากเป็นที่สามของอาเซียน 57,532 คน ก็ได้รับการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะ -6.2% โดนปรับให้ติดลบมากขึ้นจากที่เมื่อเดือนมิถุนายนที่ประมาณการไว้ที่ -6.0% ส่วนมาเลเซียซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด 10,052 คน จากเดิมในเดือนเมษายนที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 0.5% โดนปรับมาเป็น -4.0% และ -5.0% ในครั้งล่าสุด
เมียนมาซึ่งตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาผู้คนกลับมาติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้นกันอย่างมากจนแซงประเทศไทยไปแล้ว ล่าสุดมีคนติดเชื้อ 4,043 คน แต่ ADB ก็ยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะยังเติบโตไปได้ที่ +1.8% เป็นอัตราเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ยังไม่ติดลบ ต้องจับตาดูว่าถ้ายังมีคนติดเชื้อวันละเป็นร้อยๆคนต่อไปอีก เศรษฐกิจเมียนมาจะยังเติบโตได้หรือไม่?
เวียดนามซึ่งมีคนติดเชื้อโควิด 1,066 คน จากเดิมที่ ADB คาดการณ์ในเดือนเมษายนและมิถุนายนว่าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ 4.8% และ 4.1% นั้น ล่าสุดโดนคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโตลดลง จะโตแค่ 1.8% ส่วนกัมพูชาซึ่งมีผู้ติดเชื้อโควิด 275 คน เศรษฐกิจจะโตติดลบที่ -4.0% บรูไน ซึ่งติดเชื้อโควิด 145 คน ADB คาดว่าเศรษฐกิจเติบโต 1.4% เท่ากับการคาดการณ์ครั้งก่อน ขณะที่สปป.ลาวซึ่งมีคนติดเชื้อโควิดเพียง 23 คนแต่เศรษฐกิจก็ได้รับผลกระทบมากพอสมควร จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ที่ 3.5% ในการคาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน แต่ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะติดลบ 0.5% ในเดือนมิถุนายนและล่าสุดคาดว่าเศรษฐกิจจะ -2.5%
การคาดการณ์ล่าสุดในเดือนกันยายนสำหรับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน เรียงลำดับจากเติบโตมากไปหาน้อยได้ดังนี้ ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย จะเติบโตมากที่สุดเท่ากันที่ +6.5% อันดับสามคือเวียดนาม +6.3% อันดับสี่คือเมียนมา +6.0% อันดับห้าคือกัมพูชา +5.9% อันดับหกคืออินโดนีเซีย +5.3% ขณะที่ไทยจะเติบโตเป็นอันดับที่เจ็ดร่วมกับสิงคโปร์และสปป.ลาวที่ +4.5% ส่วนบรูไนซึ่งปีหน้าจะเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน เศรษฐกิจจะ +3%
ค่าเฉลี่ยของการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2564 ของอาเซียนคือ +5.5% ซึ่งไทยยังเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เช่นเดียวกับค่าเฉลี่ยของการเติบโตทางเศรษฐกิจของปี 2562 ซึ่งอาเซียนทั้งภูมิภาคเติบโตเฉลี่ยที่ +4.4% ขณะที่ไทยเติบโตได้แค่ +2.4% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอีกเช่นกัน
เมื่อดูการติดเชื้อโควิดและการคาดการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศยักษ์ใหญ่ในเอเชียโดย ADB พบว่าอินเดียซึ่งมีการติดเชื้อสูงเป็นอันดับสองของโลกแล้ว ล่าสุดมีคนติดเชื้อ 5,212,686 คน ปี 2562 เศรษฐกิจจะหดตัวที่ -9.0% แต่อินเดียจะพลิกกลับมาเติบโตได้ในปี 2564 ที่ +8.0% ส่วนจีนต้นกำเนิดโควิดซึ่งมีผู้ติดเชื้อ 85,223 คน ปี 2563 จะยังสามารถเติบโตได้ที่ +1.8% และปี 2564 จะเติบโตต่อที่ +7.7%
การคาดการณ์ของ ADB หักล้างคำอธิบายของผู้บริหารเศรษฐกิจของไทยที่มักอธิบายว่า ปีนี้เศรษฐกิจไทยติดลบมากเพราะโควิดปีหน้าจะกลับมาเติบโตดีแน่นอน ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตัวเลขคาดการณ์ของ ADB แสดงให้เห็นแล้วว่า ก่อนเกิดโควิดไทยก็เติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เมื่อเกิดโควิดเศรษฐกิจไทยก็ติดลบมากเกินเหตุ ส่วนปีหน้าแม้ไทยจะกลับมาเติบโตได้ แต่ก็ยังต่ำกว่าประเทศอื่นๆอยู่ดี
ยอมรับกันได้หรือยังที่เศรษฐกิจไทยติดลบมากไม่ใช่เพราะโควิด-19 แต่เป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอ่อนแอ
Amazing AEC – โควิด เศรษฐกิจ คำอธิบาย
[smartslider3 slider="9"]