Amazing AEC – โอกาสรัฐบาลหลัง COVID-19

0
649

อาทิตย์ที่แล้ว ผมบอกว่าเราจะต้องเอาชนะ COVID-19 ด้วยแนวคิด COVID คือ C : Connected ความเชื่อมโยง ปัจจุบันโลกทั้งใบเชื่อมโยงกันอย่างมาก ดังนั้นเราจึงต้องติดตามเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของโลกให้ตลอดเวลา และควรเรียนรู้ร่วมกับอาเซียน O : Opportunity is Everywhere โอกาสมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราจึงควร “รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สนใจในการฝึกอบรมทักษะใหม่ (Reskill) และการเพิ่มทักษะใหม่ (Upskill) อย่างต่อเนื่องและต้องพยายามแสวงหาโอกาสทุกเวลา V : Value คุณค่า คำสำคัญที่ช่วยทำให้เราค้นพบเป้าหมายของชีวิต รู้ว่าอะไรคือความสุขความภูมิใจของเรา I : Integrated การหลอมรวม หลัง COVID-19 ผ่านพ้นเราจะก้าวไปสู่โลกที่ทุกอย่างเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกันชนิดที่ยากจะแยกออก ผู้ชนะในยุคนี้จะต้องใช้สองยุทธศาสตร์คือการมีหุ้นส่วน (Partnership) และขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven) และ D : Defacto การยอมรับความเป็นจริง การยืนอยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง

สำหรับรัฐบาล D : Defacto การยอมรับความเป็นจริง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในการจะใช้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่ในการบริหารประเทศหลัง COVID-19 ผ่านพ้น และความจริงที่รัฐบาลต้องยอมรับให้ได้เสียก่อนก็คือ

หนึ่ง รัฐบาลไทยยังขาดยุทธศาสตร์ในการจัดการภาวะฉุกเฉินร้ายแรงเช่นนี้ จะเห็นได้ชัดจากความวุ่นวายในการจัดการช่วงแรก เช่นการขาดแคลนและการกักตุนหน้ากากอนามัย การตัดสินใจใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและตั้ง ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด) เป็นเรื่องที่ถูกต้องแต่ก็ยังช้าเกินไปเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่จัดการได้เร็วกว่าดีกว่า เช่นไต้หวันและเวียดนาม

สอง การสื่อสารของรัฐบาลโดยรวมยังไร้ประสิทธิภาพ แม้คนส่วนมากจะชื่นชมโฆษกศบค. คุณหมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่านั่นเป็นเพราะคนชื่นชมทักษะเฉพาะตัวในการสื่อสารของโฆษก หากให้คนอื่นเป็นโฆษก ศบค.อาจจะไม่ได้รับความน่าเชื่อถือและชื่นชมขนาดนี้ (แต่ก็เริ่มเป็นห่วงโฆษก เพราะเริ่มจะแถลงออกนอกพื้นที่ซึ่งคุณหมอมีความถนัด) การแย่งกันออกมาสื่อสารอย่างสับสนของรัฐมนตรีและหมอหลายๆคน สะท้อนชัดถึง “ความไม่รู้” ในหลักการสื่อสารในภาวะวิกฤติของผู้บริหารประเทศและหมอ ตัวอย่างการสื่อสารที่ดีของผู้นำขอให้ไปดูการสื่อสารของนายกฯสิงคโปร์ ลี เซียนลุง

สาม ประเทศไทยยังไม่มี BIG DATA จึงทำให้การแจกเงินและการช่วยเหลือของรัฐบาลในหลายๆมาตรการสับสนวุ่นวายอย่างที่เห็น เมื่อไม่มี BIG DATA ไทยจึงยังไม่มี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพราะ AI นั้นกิน BIG DATA เป็นอาหาร เมื่อไม่มีอาหารก็อย่าหวังว่าจะมี AI ได้ หากยังอยากจะเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ก็ต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ โดยเฉพาะความเข้าใจผิดของภาครัฐที่มักจะเข้าใจว่าฐานข้อมูลต่างๆที่มีกันอยู่นั้นเป็น BIG DATA ทั้งๆที่มันเป็นแค่ DATA BASE ขนาดใหญ่เท่านั้นเอง

สี่ ประชาชนจำนวนมากของประเทศยังเป็นคนที่ทำมาหากินกันแบบหาเช้ากินค่ำเดือนชนเดือน ไร้เงินออมแถมเป็นหนี้และอยู่นอกระบบภาษี เมื่อเกิดวิกฤติคนพวกนี้จะเดือดร้อนมาก เห็นได้จากคิวยาวเหยียดที่มารอรับอาหารและเงินร้อยสองร้อยบาท ที่สำคัญรัฐบาลไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับคนเหล่านี้เพียงพอที่จะช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วหน้า ความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยถ่างกว้างมากขึ้นอย่างน่าตกใจ ภาพคนร้องไห้ขอเงินขออาหารในช่วงนี้ช่างขัดแย้งกับข่าวจำนวนมหาเศรษฐีไทยที่รวยมากยิ่งขึ้นครอบครองทรัพย์สินมากยิ่งขึ้น สะท้อนความลำเอียงของนโยบายพัฒนาประเทศว่ายิ่งพัฒนาก็ยิ่งเอื้อประโยชน์ไปให้มหาเศรษฐีเพียงไม่กี่กลุ่มในประเทศ

ห้า เศรษฐกิจไทยอ่อนแอเพราะโครงสร้างซึ่งเกิดขึ้นเพราะประเทศขาดยุทธศาสตร์ไม่ใช่เพราะ COVID-19 ตอนตกเศรษฐกิจเราจะตกมากกว่าประเทศอื่นๆ และคงจะฟื้นช้ากว่าประเทศอื่นๆเช่นกัน โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เรื่องนี้แก้ได้ด้วยการจัดทำยุทธศาสตร์ประเทศใหม่โดยด่วนตามแนวทาง New Normal หลัง COVID-19

หก ทัศนคติของรัฐบาลไทยและข้าราชการยังคงยึดติดอยู่กับความเป็น “คุณพ่อรู้ดี” คิดว่ารัฐบาลรู้ดีและเก่งกว่าประชาชน จึงไม่ใส่ใจการรับฟังประชาชนทุกภาคส่วน และระบบราชการยังขาดการบูรณาการ ขาดการถูกตรวจสอบอย่างโปร่งใส

เจ็ด ระบบสาธารณสุขของไทยแข็งแรงและดีมากในระดับโลก แต่นั่นก็เพราะความเข้มแข็งของภาคเอกชนที่สามารถกอบโกยกำไรได้อย่างเสรีภายใต้ค่ารักษาพยาบาลที่แพงลิ่วซึ่งตอบโจทย์เฉพาะคนรวยแต่ไม่ได้ช่วยคนจน หาใช่ฝีมือของภาครัฐแต่ประการใด

การยอมรับความจริง Defacto ทั้ง 7 ประการ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูประเทศไทยหลัง COVID-19 อย่างถูกต้องถูกเวลา

[smartslider3 slider="9"]