หนึ่งในเรื่องที่ผู้คนพูดถึงกันอย่างมากในการฟื้นฟูการบินไทยก็คือเราควรจะทำตามการฟื้นฟูแจแปนแอร์ไลน์ซึ่งเผชิญสถานการณ์หนักกว่าการบินไทยแต่ยังสามารถฟื้นฟูกลับมาทำกำไรได้ภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว และสามารถกลับเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกครั้งภายในสามปี
ผมเองซึ่งศึกษาเทคนิคการฟื้นฟูแจแปนแอร์ไลน์ของ นายอินาโมริ คาซึโอะ มานานหลายปีและมีโอกาสเอามาใช้ในการฟื้นฟู “ซีเอ็ด” ที่ผมเป็นประธานอยู่ทำให้รู้ว่าเทคนิคของนายคาซึโอะนั้นดีจริง จึงมองเห็นประเด็นสำคัญซึ่งถ้าทำเป็นจะเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ แต่ถ้าทำไม่ดีทำตามโดยไม่รู้เนื้อแท้ของเทคนิคดังกล่าวก็จะกลายเป็นจุดอันตราย เลยขอสรุปเป็น 8 จุดอันตรายการฟื้นฟูการบินไทยมาให้อ่านกัน
หนึ่ง “ผู้นำสำคัญสุด” ในการฟื้นฟูธุรกิจหรือองค์กรใดๆก็ตาม “ผู้นำ” เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด ในการฟื้นฟูแจแปนแอร์ไลน์นั้นถ้าผู้นำการฟื้นฟูไม่ใช่นายอินาโมริ คาซึโอะแล้วผมมั่นใจว่าการฟื้นฟูจะไม่ประสบความสำเร็จเช่นนี้แน่นอน นายคาซึโอะนั้นสร้างธุรกิจของตัวเองมาตั้งแต่วัยหนุ่มด้วยความทุ่มเท ต่อสู้ด้วยจิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะผลิตสินค้าที่ดีระดับโลกและสามารถทำได้สำเร็จในที่สุด ที่สำคัญเขาคิดสร้างระบบการบริหารและการคิดราคาแบบ “อะมีบา” ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการที่ทำให้บริษัทเคียวเซราและ KDDI ของเขาประสบความสำเร็จระดับโลก
นอกเหนือจากประสบการณ์บริหารงานซึ่งคนญี่ปุ่นยกย่องให้เขาเป็นเทพเจ้าแห่งการบริหารแล้ว ปรัชญาในการมองประโยชน์ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ส่วนรวม ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญของความสุขความเป็นอยู่ของพนักงานแจแปนแอร์ไลน์ ร่วมกับการทุ่มเทลงไปคลุกคลีพูดคุย สัมมนา ประชุมครั้งแล้วครั้งเล่ากับผู้บริหารและพนักงานในทุกระดับ ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานทั้งองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจกับนายคาซึโอะฟื้นฟู แจแปนแอร์ไลน์อย่างเต็มกำลัง
ดังนั้นการเลือกประธานคนใหม่ของการบินไทยที่จะมาเป็นผู้นำการฟื้นฟูก็ควรจะมีคุณสมบัติและความทุ่มเทให้ใกล้เคียงกับนายคาซึโอะ หรือควรจะมากกว่าเสียด้วยซ้ำไปเพราะจิตวิญญาณความเป็นนักต่อสู้และความร่วมมือร่วมใจของคนญี่ปุ่นนั้นแตกต่างจากคนไทยมากพอสมควร
สอง “คนสำคัญคือคนการบินไทย” แม้จะคัดเลือกได้ผู้นำการฟื้นฟูได้เก่งสักเพียงใดก็ตามแต่ต้องไม่ลืมว่า พลังสำคัญพลังหลักในการฟื้นฟูนั้นคือพลังของคนการบินไทยนั่นเอง แจแปนแอร์ไลน์ที่ฟื้นฟูได้สำเร็จอย่างรวดเร็วก็เพราะพนักงานทั้งหมดต่างทุ่มเทต่อสู้ด้วยจิตวิญญาณที่ลุกโชนเพื่อการฟื้นฟู เมื่อนายคาซึโอะบอกว่าการบินคืออุตสาหกรรมขั้นสูงสุด การบริการให้ดีที่สุดคือหัวใจสำคัญของสายการบิน ถ้าพนักงานทุ่มเทให้บริการด้วยจิตใจจนผู้โดยสารเมื่อมาใช้บริการเพียงครั้งเดียวจะต้องประทับใจว่าแจแปนแอร์ไลน์ให้บริการดีเยี่ยมและจะต้องรู้สึกอยากกลับมาใช้บริการอีกครั้งก็จะทำให้แจแปนแอร์ไลน์พลิกฟื้นได้อย่างรวดเร็ว
ในช่วงการฟื้นฟูนั้น พนักงานทุกระดับของแจแปนแอร์ไลน์ต่างทุ่มเทให้บริการอย่างดีเยี่ยม จนเป็นที่กล่าวขานในหมู่ผู้เดินทางและกลายเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้ง จนคนญี่ปุ่นหันกลับมาใช้บริการแจแปนแอร์ไลน์จนสามารถกลับมาทำกำไรได้ในระยะเวลาเพียงปีเดียว ดังนั้นการฟื้นฟูการบินไทยให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากพนักงานการบินไทยทุกคน ผู้นำการฟื้นฟูจึงต้องมีศิลปะในการโน้มน้าวใจทีมที่ดีเยี่ยม ต้องให้ความสำคัญอย่างมากที่สุดกับการสร้างขวัญกำลังใจและการสร้างความร่วมมือร่วมใจของพนักงานทุกระดับเพราะคนการบินไทยทุกคนคือพลังสำคัญในการฟื้นฟูนั่นเอง