Climate Change สำคัญอะไรนักหนา? – มุมมองเกษมสันต์

0
698

Climate Change สำคัญอะไรนักหนา?

เคยสงสัยเหมือนผมไหมครับว่าทำไมการประชุมระดับโลกถึงให้ความสนใจเรื่อง Climate Change หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศกันมากนัก การประชุม G7 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังประชุมเรื่องนี้กันอีก มันสำคัญมากขนาดนั้นเชียวหรือ?

ระหว่างคำว่า Climate Change กับ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่มีการแปลเป็นไทยนั้นคำแรกนั้นเรียกง่ายกว่า สั้นกว่า ความหมายก็ชัดเจนกว่า พูดแล้วเข้าใจตรงกันมากกว่า ดังนั้นผมจะขอใช้คำนี้ทับศัพท์ไปก่อนจนกว่าจะมีภาษาไทยที่เข้าใจง่ายกว่ามาใช้แทน

ก่อนจะได้ยินคำว่า Climate Change นั้นคนส่วนใหญ่มักจะได้ยินคำว่า “Global Warming หรือภาวะโลกร้อน” กันบ่อยมาก แต่อยู่ดีๆคำนี้ก็หายไป แล้วก็มีคำว่า Climate Change มาแทน เหตุผลก็คือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับโลกนั้นไม่ได้เกิดเฉพาะการร้อนมากขึ้นเฉยๆ ในบางภูมิภาค บางโอกาสมีฝนตกมากขึ้น มีพายุมากกว่าปรกติ มีอากาศก็หนาวเย็นมากขึ้นอย่างผิดปรกติ บางประเทศไม่เคยมีหิมะก็มีหิมะตก ดังนั้นคำว่า “ภาวะโลกร้อน” จึงทำให้คนสับสน ไหนว่าโลกร้อนแล้วทำไม่มีฝนมีพายุมากขึ้นแถมมีหิมะตกด้วย โลกร้อนยังไง? คนที่รณรงค์เรื่องนี้ก็เลยเปลี่ยนจากการใช้คำว่า Global Warming มาเป็น Climate Change จะได้เข้าใจตรงกันและไม่สับสน เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นมีทั้งร้อนขึ้นหนาวขึ้น แล้งขึ้นน้ำท่วมมากขึ้น และมีฝน พายุและหิมะมากขึ้นในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันออกไป

ปัญหาทั้งหมดมันเริ่มต้นที่พวกเราที่เป็น “คน” นี่เอง เมื่อคนบนโลกมีมากขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้มีอยู่ 7, 900 ล้านคน อีก 30 กว่าปีจะมีมากถึง 10,000 ล้านคน มีคนเยอะก็มีการใช้ทรัพยากรต่างๆเยอะ ทั้งกิน ใช้ ทำงาน เดินทางและผลิต ทั้งหมดนั้นทำให้เกิดขยะและของเสียต่างๆเยอะ ที่สำคัญในทุกกิจกรรมของคนนั้นมักจะมีส่วนเกี่ยวพันกับใช้เชื้อเพลิงประเภทฟอสซิลซึ่งทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากตามไปด้วย

คาร์บอนไดออกไซด์ นั้นมีลักษณะพิเศษมากกว่าที่เราเคยเรียนตอนเด็กๆว่า ต้นไม้จะดูดเอาก๊าซนี้ไปสังเคราะห์อาหารแล้วคายออกซิเจนออกมา เพราะก๊าซนี้เมื่อเกิดขึ้นและลอยขึ้นไปอยู่บนชั้นบรรยากาศของโลกจะมีความโปร่งแสงสำหรับแสงแดด ทำให้แสงแดดส่องถึงพื้นโลกได้เต็มๆ ร้อนแค่ไหนไม่ต้องพูดกันคนไทยรู้ดี พื้นผิวโลกก็ดูดเอาความร้อนจากแสงแดดเก็บเอาไว้จนร้อนขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากดูดความร้อนจากแสงแดดเอาไว้แล้ว ผิวโลกของเราก็ยังสะท้อนแสงแดดบางส่วนกลับออกไปด้วย แต่ตอนที่สะท้อนแสง แดดกลับออกไป คาร์บอนไดออกไซด์ที่ลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศนั้นกลับไม่ยอมให้แสงแดดซึ่งอยู่ในรูปของรังสีความร้อนนั้นสะท้อนกลับออกไปได้ แต่มันกลับจะดูดซับเอาความร้อนนั้นไว้กับตัวมันเอง แล้วค่อยๆแผ่ความร้อนดังกล่าวออกมาทุกทิศทุกทางรอบๆตัวมันและสะท้อนกลับมายังพื้นโลกอีกทีหนึ่ง

โลกทั้งใบจึงเสมือนอยู่ในเรือนกระจกที่สร้างขึ้นมาเพื่อปลูกพืชภัณฑ์ทางการเกษตรที่ทำให้แสงแดดทะลุเข้ามาได้ แต่เก็บความอบอุ่นเอาไว้ให้พืชภัณฑ์ได้เติบโต นักวิทยาศาสตร์ก็เลยเรียกสภาวะที่แสงแดดทะลุคาร์บอนไดออกไซด์ส่งความร้อนเข้ามายังโลกได้ แต่สะท้อนกลับออกไปไม่ได้ว่า “ปรากฏการณ์เรือนกระจก” หรือ Greenhouse Effect นั่นเอง

ความจริงมีก๊าซหลายชนิดที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก เช่นก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ แต่คาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีมากที่สุดและอยู่ลอยอยู่คงทนในชั้นบรรยากาศนานที่สุดจึงส่งผลมากที่สุด ดังนั้นเพื่อความง่ายในการเรียก แทนที่จะระบุชื่อก๊าซต่างๆนานา นักวิทยาศาสตร์จึงเรียกรวมกันว่า “ก๊าซเรือนกระจก” ซึ่งหมายรวมถึงทุกก๊าซที่ส่งผลกระทบต่อการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก แต่เล็งไปที่คาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าก๊าซตัวอื่นๆ

นอกจากคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้พื้นผิวโลกร้อนขึ้นแล้ว มันยังทำให้น้ำทะเลในมหาสมุทรต่างๆ มีความเป็น “กรด” สูงมากขึ้น เพราะการที่คาร์บอนไดออกไซด์ละลายเข้าไปในน้ำทะเลนั่นเอง และความเป็นกรดที่สูงขึ้นทุกปีๆจะไปกัดกร่อนปะการังใต้ทะเล ปีละ 1-2 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่า ปะการังใต้ทะเลทั้งหมดในโลกนี้กำลังจะเสียหายและตายทั้งโลกภายในอีก 100 ปีข้างหน้านี่เอง

ถ้าไม่มีปะการัง จะเกิดอะไรขึ้น? ลูกปลาตัวเล็กในทะเลซึ่งปรกติอาศัยปะการังเป็นแหล่งหลบภัยจากปลาใหญ่และสัตว์ทะเลอื่นๆที่จะมากินมันเป็นอาหารก็จะไม่มีแหล่งหลบภัย จะถูกกินเป็นอาหารไปเสียตั้งแต่มันตัวเล็กๆ ไม่ทันจะโตเป็นปลา กุ้ง ปลาหมึก ตัวใหญ่ให้ชาวประมงจับมาให้เรากิน อาหารทะเลจะลดลงอย่างน่าตกใจ นี่ไม่นับจากที่ทุกวันนี้คนเราจับสัตว์ทะเลมามากเกินกว่าที่ควรจะจับจนโตไม่ทันให้พวกเรากินกันอยู่แล้ว

ไม่เฉพาะปะการังเท่านั้นที่ไม่ชอบคาร์บอนไดออกไซด์ แต่ก็ยังมีพืชอีกมากมายที่ไม่สามารถเติบโตได้ดีถ้ามีก๊าซนี้มากเกินไป นั่นหมายความว่าพืชที่เป็นอาหารของคนจะลดลงอย่างมากนอกจากจะเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด หนาวจัด แล้งจัด ฝนตกมากจัดและน้ำท่วมจัดแล้วยังจะเป็นผลมาจากการที่พืชเติบโตได้ยากขึ้นเพราะมีคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นอีกด้วย

Climate Change นอกจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตอาหารที่ในปัจจุบันก็มีคนนับพันล้านคนบนโลกนี้ที่ขาดแคลนอาหารที่เหมาะสมอยู่แล้วเท่านั้น แล้วจะยังทำให้เกิดความแห้งแล้งทั่วโลก น้ำจืดขาดแคลน พื้นที่ชายฝั่งมีปัญหามากขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติมากขึ้น โรคระบาดกระจายกันง่ายทั่วโลกมากขึ้น ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ตอนนี้ยังมองเห็นได้ยาก แต่ในอนาคตอันใกล้ผลกระทบจาก Climate Change นั้นมหาศาลเกินกว่าที่ประเทศต่างๆจะรับไหวโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจน

บิลล์ เกตต์ ซึ่งแต่เดิมไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้ แต่เมื่อได้เรียนรู้ถึงผลกระทบที่ร้ายแรงเข้าถึงกลับกลายมาเป็นคนแถวหน้าที่ออกมารณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจังมากคนหนึ่ง ได้สรุปผลกระทบของ Climate Change ต่อเศรษฐกิจโลกเอาไว้สั้นๆแต่น่าตกใจคือ ผลมันจะเท่ากับโลกเรามีการระบาดโควิด-19 ทุกๆ 10 ปี และจะมีคนตายมากกว่าโควิด-19 ถึง 5 เท่าถ้ายังปล่อยเอาไว้อย่างนี้ คือปล่อยให้โลกร้อนขึ้นแค่ 1-2 องศาเท่านั้นเอง

ที่น่าตกใจก็คือแม้ว่า G7 และประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายจะร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ทุ่มเทงบประมาณมหาศาลทั้งใช้เองและให้ประเทศยากจนเอาไปใช้เพื่อหยุดยั้งปัญหา Climate Change ก็จะไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ทันที และต่อให้โลกทั้งใบหยุดการผลิตทุกอย่าง หยุดการเคลื่อนไหว หยุดการเดินทาง หยุดการบริโภค หยุดทุกกิจกรรมที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ รวมทั้งทุกคนบนโลกหยุดการหายใจทันทีตั้งแต่ตอนนี้ ผลกระทบจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สะสมอยู่ในโลกใบนี้ก็จะยังส่งผลให้เกิด Climate Change ต่อไปอีกหลายสิบปี เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เราผลิตออกมาแล้วนั้นจะล่องลอยและคงอยู่ในบรรยกาศโลกได้อีกนานนับพันนับหมื่นปี

ที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือผลกระทบร้ายแรงทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นนี้เกิดจากการปล่อยให้โลกร้อนขึ้นอีกแค่ 1-2 องศาเท่านั้นเอง

[smartslider3 slider="9"]