PERSPECTIVE OF AEC – การเสด็จพระราชดำเนินเยือนอาเซียนบวกหก

0
586

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ นอกจากโครงการใน พระราชดำริซึ่งมีมาก กว่า 1,000 โครงการและพระราชกรณียกิจอีกนานับประการภายในประเทศแล้ว พระองค์ยังทรงมี พระราชกรณียกิจด้าน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ด้วยการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมทั้งสิ้น 27 ประเทศ ในช่วงปีพ.ศ. 2502  ถึง 2510 เพื่อเจริญพระราชไมตรีกับบรรดามิตร ประเทศเหล่านั้น

ประเทศในอาเซียนบวกหกที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยือนมีทั้งหมด 9 ประเทศ คือ เวียดนามใต้ อินโดนีเซีย  เมียนมา มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และสปป.ลาวส่วนประเทศที่ไม่ได้เสด็จเยือน คือ บรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินเดีย

ประเทศแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเสด็จเยือนอย่างเป็นทางการ คือประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18–21 ธันวาคม 2502 ตามที่ประธานาธิบดีโงดินห์เดียมแห่งสาธารณรัฐเวียดนามได้ กราบบังคมทูลเชิญ ในการเสด็จฯครั้งนั้นมหาวิทยาลัยไซ่ง่อนได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมาย แด่พระองค์ท่าน  จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังเมืองเว้ นครหลวงเดิมของเวียดนาม แล้วเสด็จฯ สถานที่ตากอากาศ ณ เมืองดาลัด เสด็จฯ กลับสู่ไซ่ง่อนก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับประเทศไทย

ประเทศที่สองซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือนคือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 เมื่อเสด็จฯถึง ประธานาธิบดีซูการ์โนแห่งอินโดนีเซีย พร้อมด้วยบรรดาข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ฝ่ายทหาร และพลเรือน คณะทูตานุทูตได้ไปคอยรับเสด็จ พร้อมด้วยทหารกอง เกียรติยศของกองทัพบก เรือ และอากาศหลายร้อยคน และมีประชาชนอีกไม่น้อยกว่า 10,000 คนไป โบกธงรับเสด็จ พระราชดำเนินอยู่ ณ ท่าอากาศยาน

ประธานาธิบดีซูการ์โน ได้กราบทูลในการรับเสด็จ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “…ไทยกับอินโดนีเซียได้มีประวัติศาสตร์ แห่งความเป็นมิตรมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว มีสิ่งของและอาหารหลายอย่างของอินโดนีเซียมีคำว่า “ไซมิส” เป็นคุณศัพท์ รวมอยู่ด้วย คำว่าไซมิส มาจากคำว่า “สยาม” อันเป็นชื่อเดิมของประเทศไทย” ในการเสด็จเยือนครั้งนั้น พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ให้แก่ประธานาธิบดีซูการ์โน รัฐมนตรี และ เอกอัครราชทูต อินโดนีเซียประจำประเทศไทย  มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา มหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองยอร์กยาการ์ตา ได้ทูลเกล้าฯถวาย ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ท่าน

เดือนถัดมาในระหว่างวันที่ 2–5 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ พระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า (ชื่อขณะนั้น) ตามคำเชิญของประธานาธิบดี อูวินหม่อง ตลอดระยะทางยาว 15 ไมล์ จากสนามบินหยั่นโกว่นไปยังทำเนียบที่ประทับ มีประชาชนถือธงชาติไทยและธงพม่า โบกสะบัดถวายการต้อนรับเสด็จฯ อยู่สองฟากทางอย่างแน่นขนัด เมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปถึงทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งจัดเป็นที่ประทับแล้ว ประธานาธิบดี ได้ทูลเกล้าถวายเครื่องอิสริยาภรณ์อัครมหาสิริธรรมะ ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ ชั้นสูงสุดของสหภาพพม่า และพระองค์ฯ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่ประธานาธิบดี

ในการเสด็จครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไป นมัสการพระเจดีย์ชเวดากอง ทรงลงพระปรมาภิไธยในสมุดเยี่ยม และทรงถวายเงินบำรุงเป็นพุทธบูชาจำนวน 2,503 จ๊าต เท่ากับอายุของพระพุทธศาสนาตามปีพ.ศ.ของไทยนั่นเอง

อีก 2 ปีถัดมา ระหว่างวันที่ 20–27 มิถุนายน พ.ศ. 2505 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรม ราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐมลายา หรือประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ยังดี เปอร์ตวน อากง กษัตริย์มลายา และประไหมสุหรี (พระราชินี) ได้มาเฝ้ารับเสด็จ ณ ท่าอากาศยาน กัวลาลัมเปอร์ ในการเสด็จฯเยือนพระองค์ทรงรับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ทรงแลกเปลี่ยนของขวัญ มีการฉายพระ รูปร่วมกัน ทรงร่วมงานถวายพระกระยาหารค่ำอย่างเป็นทางการ  และกษัตริย์มลายาทรงกล่าวคำต้อนรับเสด็จ และถวาย พระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า “Our Royal Brother and Friend” ในการเสด็จฯครั้งนั้น พระองค์ทรงเปิดระบบ โทรศัพท์ติดต่อทางไกลระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายาด้วย

ประเทศที่ห้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ นิวซีแลนด์ ในระหว่างวันที่ 18 ถึง 26 สิงหาคม พ.ศ.2505 ในฐานะพระราชอาคันตุกะของผู้สำเร็จราชการนิวซีแลนด์ โดยพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์จากต่างประเทศพระองค์แรกที่เสด็จฯ เยือนนิวซีแลนด์ จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนิน ต่อไปยังออสเตรเลียเป็นประเทศที่ 6 ในวันที่ 26 สิงหาคม ถึง 12 กันยายน พ.ศ. 2505

ปีถัดมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 27 พฤษภาคม – 5 มิถุนายน พ.ศ. 2506 ในการเสด็จฯเยือนครั้งนั้นรัฐบาลญี่ปุ่นได้จัดถวายพระกระยาหาร ค่ำแก่ทั้งสองพระองค์ ณ ทำเนียบรัฐบาลโดยสมเด็จพระจักรพรรดิ  จักรพรรดินี  เจ้าฟ้ามกุฎราชกุมารและพระราชวงศ์ชั้นสูง ได้เสด็จมาร่วมงานด้วย และในปีเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 9–14 กรกฎาคม พ.ศ. 2506

และในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถได้ เสด็จฯเยือนแคนาดาเป็นประเทศสุดท้าย หลังจากนั้นพระองค์ก็มิเคยเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชอาณาจักร เพื่อทรงเยือนประเทศใดๆ อีกเลย เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า พระราชภารกิจในการทรงงานเพื่อความผาสุกของประชาชน ของพระองค์นั้นมีความสำคัญยิ่ง ดังนั้นหากพระประมุข ประมุข หรือรัฐบาลของประเทศใด กราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปทรงเยือน ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่นพระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จ พระราชดำเนินแทนพระองค์

แต่ในปี 2537 ระหว่างวันที่ 8 ถึง 9 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี นาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีได้เสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่าง เป็นทางการ ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทรงว่างเว้นจากการเสด็จฯ มาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี  การเสด็จฯ ในครั้งนั้นพระองค์ทรงเสด็จฯ ไปเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งเป็นสะพานแรกที่สร้างเชื่อมดินแดน ของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกันร่วมกับ ฯพณฯหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศลาว  เมื่อทรงประกอบพิธีเปิดสะพานแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปทรงงานยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนลาวมาก่อนหน้านั้น

[smartslider3 slider="9"]