Home Mix Magazine - Perspective of AEC 2017-2016 PERSPECTIVE OF AEC – ยุทธศาสตร์น้ำของสิงคโปร์

PERSPECTIVE OF AEC – ยุทธศาสตร์น้ำของสิงคโปร์

0
609
[smartslider3 slider="7"]

ปี พ.ศ. 2559 นี่เป็นปีที่แรงไม่ใช่เล่นนะครับ เพราะเริ่มต้นมาได้สี่เดือนแต่เต็มไปด้วยปัญหาสารพัน การเมือง เศรษฐกิจ สังคมรวมไปถึงปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเรื่องภัยแล้วนี่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเมืองไทยเท่านั้นนะครับ แต่เกิดทั่วภูมิภาคเลย ที่น่ากังวลก็คือเรื่องภัยแล้งนี่จะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกที่จะอยู่กับเราไปอีกนานแสนนาน และเมื่อคิดว่าไทยเราเป็น ประเทศเกษตรกรรมด้วย ปัญหานี้ยิ่งดูจะใหญ่โตขึ้นไปอีกมาก

ถ้าพูดถึงการจัดการน้ำนี่ก็ต้องพูดถึงสิงคโปร์เพราะประเทศนี้จัดการน้ำได้ดีที่สุดใน AEC ของเรา ถ้าดูสถิติฝนตกใน สิงคโปร์ที่มีฝนเฉลี่ยปีละ  2,400 มิลลิเมตรมากกว่าของไทย ที่วัดได้ 1,572.5 มิลลิเมตรและสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 1,050 มิลลิเมตร เราอาจจะเผลอคิดเอาว่าสิงคโปร์มีน้ำเยอะ แต่ถ้าเปรียบเทียบพื้นที่ของเขาซึ่งมีไม่ถึง 700  ตารางกิโลเมตรกับคน ที่มีมากกว่า 5 ล้านคนที่ต้องการใช้น้ำแล้ว ต้องบอกว่าสิงคโปร์มีน้ำน้อยสุดๆ น้อยถึงขนาดที่ต้องซื้อน้ำจากมาเลเซียมาใช้ก็แล้วกัน

ไทยเราเองเสียอีกที่เมื่อเอาพื้นที่ 5 แสนกว่าตารางกิโลเมตรซึ่งมากกว่าสิงคโปร์เกือบ 1,000 เท่าแต่คนมีมากกว่าแค่เพียง 13-14 เท่า มาเปรียบเทียบกันเราจะพบว่าปริมาณฝนที่ตกในไทยแต่ละปีนี่ไม่น้อยนะครับ แต่เป็นฝีมือในการบริหารจัดการน้ำ ต่างหากที่เรามีน้อย ข่าวน้ำท่วมสลับน้ำแล้งคงยืนยันฝีมือน้อยๆของไทยเราได้

จะว่าไปแล้วสิงคโปร์ต้องขอบคุณมาเลเซียที่คอยกดดันและคอยขู่เวลามีเรื่องขัดแย้งกันว่า เดี่ยวเถอะเดี๋ยวจะปิดก๊อกไม่ส่ง น้ำไปให้ใช้ เพราะการขู่กันแบบนี้เลยทำให้ ลีกวนยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของสิงคโปร์ตัดสินใจเด็ดขาดว่าเรื่องน้ำกินน้ำใช้ นี่เขาจะต้องทำให้สิงคโปร์มีน้ำกินน้ำใช้ให้เพียงพอด้วยตนเองให้จงได้ เมื่อมีความชัดเจนในทิศทางการบริหารประเทศ เพรารู้ว่าเป็นเรื่องความเป็นตายของประเทศ ลีกวนยูก็เลยประกาศชัดว่านโยบายด้านอื่นๆถ้าขัดแย้งกับนโยบายเรื่องน้ำ เมื่อไหร่ให้หยุดทันที เอาเรื่องน้ำมาก่อน นอกจากนี้เขาได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาใหม่เพื่อมาดูแลยุทธศาสตร์ในการบริหาร จัดการน้ำที่ชื่อว่า Public Utilities Board หรือ PUB ขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักก็คือสิงคโปร์จะไม่ต้องพึ่งน้ำจากมาเลเซีย ก่อนที่ข้อตกลงสั่งซื้อน้ำจืดจากมาเลเซียฉบับล่าสุด จะหมดอายุในปีพ.ศ. 2604 ซึ่งเมื่อถึงปีนั้น PUB จะต้องบริหารให้ คนสิงคโปร์มีน้ำใช้วันละ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยไม่ต้องพึ่งมาเลเซีย

ยุทธศาสตร์แรกๆที่ลีกวนยูประกาศก็คือการวางแผนกักเก็บน้ำฝนทุกหยดที่ตกในสิงคโปร์เอาไว้ใช้ไม่ให้ไหลทิ้ง ลงทะเลไปให้เสียเปล่า (ถึงตรงนี้แล้วต้องบอกว่าผมรู้สึกเศร้าใจมากทุกครั้งที่เห็นไทยเราเร่งดันน้ำทิ้งทะเลในหน้าฝน แล้ว มาบ่นว่าน้ำน้อยไม่พอใช้ในเดือนต่อมา) ลีกวนยู สั่งให้ทำท่อทางรับน้ำฝนไว้กับถนนทุกสาย เมื่อฝนตกลงมาน้ำฝนก็จะมี ทางไหลลงไปเก็บในท่อทางใต้ดินที่เตรียมไว้เพื่อการกับเก็บน้ำฝนโดยเฉพาะ เสร็จแล้วก็จะส่งน้ำฝนเหล่านี้ไปกักเก็บเอา ไว้ในอ่างเก็บน้ำที่ตอนนี้มีอยู่ 17 แห่งทั่วประเทศ มีพื้นที่ครอบคลุม 2 ใน 3 ของประเทศ ในอนาคต PUB ตั้งเป้าจะขยายพื้น ที่กักเก็บน้ำให้ได้มากถึง 90% ของพื้นที่ประเทศเลยทีเดียว ที่น่าสนใจก็คือพื้นที่เก็บน้ำเหล่านี้สุดท้ายแล้ว PUB เขาจะพัฒนาให้สวยงามให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอนาคตด้วยนะครับ

ยุทธศาสตร์ที่สองก็คือ น้ำรีไซเคิล ที่เรียกว่า NEWater ที่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2517 ด้วยการเอาที่น้ำใช้แล้ว มารีไซเคิลด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดย PUB ได้ลงทุนสร้างท่อทางใต้ดินยาวนับพันๆกิโลเมตรเพื่อลำเลียง เอาน้ำใช้แล้ว จากทุกภาคส่วนทั่วสิงคโปร์มายังโรงรีไซเคิล ปัจจุบันมีโรงงานรีไซเคิลน้ำทั้งหมด 4 โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 430 ล้านลิตร ต่อวันและตั้งเป้าจะผลิต NEWater ให้ได้เท่ากับ 40% ของความต้องการใช้น้ำทั่วประเทศภายในปี พ.ศ. 2563  และเพิ่มเป็น 55% ของความต้องการใช้น้ำทั่วประเทศในปี พ.ศ. 2603

ที่น่าอะเมซิ่งก็คือ NEWater  นี่เป็นน้ำรีไซเคิลที่สะอากมาก บางส่วนสะอาดมากขนาดที่สามารถดื่มได้เลย PUB ก็เลยเอา NEWater บรรจุใส่ขวดให้คนดื่มได้เลย ผู้นำระดับโลกที่มาประชุมที่สิงคโปร์ต่างเคยได้ดื่ม NEWater กันมาแล้วทั้งสิ้น ผมก็เคยดื่มมาแล้วและต้องบอกว่าดื่มได้สนิทใจอย่างมากเลยครับ สำหรับโรงงานที่ใช้ NEWater รัฐบาลสิงคโปร์ ก็ยังมีส่วนลดภาษีให้อีกด้วย

ส่วนยุทธศาสตร์ที่สามก็คือการกลั่นน้ำทะเลให้กลายเป็นน้ำจืดเพื่อเอามาใช้อุปโภคบริโภค โดยสิงคโปร์ได้เริ่มยุทธศาสตร์นี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ.  2548  จนในปัจจุบันสิงคโปร์มีโรงงานกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืด  2 โรงมีกำลังการผลิตได้วันละ 437,500 ลูกบาศ์กเมตรหรือ 25 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้น้ำในแต่ละวัน และถึงแม้ในอนาคตเมื่อถึงปี พ.ศ. 2603 คนสิงคโปร์ จะใช้น้ำมากขึ้นอีก 2 เท่าตัวแต่ PUB ก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถขยายกำลังการกลั่นน้ำทะเลเป็นน้ำจืดให้สามารถตอบสนอง ความต้องการใช้น้ำในระดับ 25  เปอร์เซ็นต์เอาไว้ได้

ไม่เฉพาะยุทธศาสตร์หลักด้านการผลิตน้ำจืด หรือยุทธศาสตร์ด้านอุปทาน เท่านั้นที่  PUB ให้ความสนใจแต่ PUB ให้ความ สำคัญกับการรณรงค์ให้คนสิงคโปร์รักษ์และมีความรู้สึกร่วมในการประหยัดน้ำอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นในห้องน้ำสาธารณะ ที่สิงคโปร์ก๊อกน้ำจะต้องใช้ระบบเปิดปิดอัตโนมัติเท่านั้น ส่วนชักโครกเพื่อการขับถ่ายก็จะต้องเป็นชักโครกระบบสอง จังหวะสำหรับการชำระล้างการถ่ายทุกข์แบบเบาและหนัก

แต่ที่ผมชอบและคิดว่าเมืองไทยเราน่าจะทำได้ไม่ยากก็คือที่นั่นเขามีฉลากประหยัดน้ำติดไว้กับอุปกรณ์ทั้งหลายที่ต้องใช้น้ำ เพื่อบ่งบอกว่าอุปกรณ์ดังกล่าวประหยัดน้ำได้ในระดับใด โดยเขาจะใช้สัญญลักษณ์เป็นเครื่องหมายถูกตั้งแต่หนึ่งถึงสามอัน ยิ่งมีเครื่องหมายถูกหลายอันก็หมายความว่าอุปกรณ์นั้นๆ ยิ่งประหยัดน้ำมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่นถ้าเป็นเครื่องซักผ้าที่มี เครื่องหมายถูกสองอันจะช่วยประหยัดน้ำได้ถึง 102 ลิตรต่อการซักผ้าหนัก 7 กิโลกรัมเมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องซักผ้าที่ ไม่มีเครื่องหมายประหยัดน้ำ และถ้าเป็นเครื่องซักผ้าที่ประหยัดน้ำสูงสุดคือมีเครื่องหมายถูกสามอันในการซักผ้าที่หนัก เท่าๆกันนั้นจะสามารถประหยัดน้ำได้ 112  ลิตรเป็นต้น

แต่รัฐบาลสิงคโปร์เขาเข้าใจความรู้สึกของคนดีว่าใครๆก็รักความสะดวกสบาย ถ้าใช้การรณรงค์เฉยๆการจะทำให้คน สิงคโปร์ประหยัดน้ำนั้นคงยากที่จะสำเร็จได้ รัฐบาลสิงคโปร์จึงใช้มาตรการบังคับควบคู่กันไปด้วย เช่น เรื่องเครื่องซักผ้า พอเริ่มมีเครื่องซักผ้ารุ่นประหยัดน้ำขายรัฐบาลก็เริ่มด้วยการรณรงค์ให้คนเปลี่ยนมาใช้เครื่องซักผ้ารุ่นที่ประหยัดน้ำ พอเวลาผ่านไปได้สักสองสามปี รัฐบาลก็ได้ออกกฎหมายห้ามขายเครื่องซักผ้าที่ไม่มีเครื่องหมายประหยัดน้ำรับรอง

มาตรการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่รัฐบาลสิงคโปร์เขาไม่ลืมที่จะทำแน่ก็คือการการกำหนดปริมาณน้ำที่คนสิงคโปร์ควรจะใช้ ในแต่ละเดือน หากใช้เกินรัฐบาลก็จะเก็บเงินส่วนเพิ่มจากการใช้น้ำนั้นๆ (Water Tariff)  นอกจากนี้ยังเก็บภาษีอนุรักษ์น้ำ (Water Conservation Tax) ดังนั้นคนสิงคโปร์จึงรู้ตัวดีว่าถ้าเขาใช้น้ำมาก เขาก็จะต้องจ่ายค่าน้ำมากขึ้นในอัตราที่สูงขึ้น เรื่อยๆแถมยังต้องจ่ายภาษีมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นประหยัดน้ำดีกว่า มียุทธศาสตร์น้ำครบวงจรขนาดนี้ สิงคโปร์เลยมีความมั่นใจที่จะประกาศว่าแม้โลกสมัยใหม่ จะมีอุปกรณ์ทันสมัยที่ต้องใช้ น้ำจำนวนมากมาสร้างความสุขความสบายให้ผู้คนมากยิ่งขึ้น แต่คนสิงคโปร์ก็จะยังใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป แถมยังกล้าตั้งเป้าหมายให้คนสิงคโปร์ใช้น้ำน้อยลงเรื่อยๆโดยที่ชีวิตยังมีความสุขความสบายจากการใช้น้ำเหมือนเดิม

[smartslider3 slider="9"]

NO COMMENTS