กรอบและทิศทางแผนฯ13 ( ตอน 3) – มุมมองเกษมสันต์

0
905

กรอบและทิศทางแผนฯ13

สองตอนแรกผมได้สรุปร่างกรอบและทิศทางแผนฯ13 ให้ได้รับทราบกันแล้ว ต่อไปนี้เป็นการวิพากษ์จากผม ซึ่งบางส่วนได้พูดต่อหน้าทีมสภาพัฒน์ฯไปแล้ว

จากการที่ผมเป็นคนวิพากษ์คนแรก ๆ ตั้งแต่เมื่อเจ็ดแปดปีที่แล้วว่า เมืองไทยไม่มียุทธศาสตร์และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เราใช้มา 11 แผนแล้วนั้นก็ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติ จนสภาพัฒน์ ฯ ชวนผมไปบรรยายพิเศษกับคณะผู้เชี่ยวชาญของสภาพัฒน์ ฯ ที่กำลังจะบินไปดูงานที่มาเลเซียเพื่อการเขียนแผน ฯ 12 เมื่อบรรยายเสร็จผู้เชี่ยวชาญต่างก็ยอมรับว่า “ไม่สามารถ” เขียนยุทธศาสตร์แบบประเทศอื่น ๆ ได้และอยากให้ผมไปโน้มน้าวเลขา ฯ สภาพัฒน์ฯ(สมัยนั้น)ให้เข้าใจ ซึ่งผมก็ยินดีขอให้นัดมา แต่การนัดกันก็ไม่ได้เกิดขึ้น

น่าตกใจกว่านั้นก็คือทีมผู้เชี่ยวชาญที่กำลังจะไปมาเลเซียนั้นจะไปดูงาน “วิชั่น 2020” ซึ่งเป็นการเขียนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการปฏิรูปมาเลเซียซึ่งเริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 แต่ทีมไม่ได้มีแผนการที่จะไปดูการเขียนยุทธศาสตร์ของ “1 Malaysia” ซึ่งเป็นภาคต่อของการปฏิรูปประเทศในปีพ.ศ. 2553 และทีมไม่รู้จักและไม่ได้นัดหมายผู้บริหารของ PEMANDU หน่วยงานที่ทำหน้าที่เขียนยุทธศาสตร์และติดตามประเมินการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล และกระทรวงต่าง ๆ ทั้ง ๆ ที่ปีที่ผมไปบรรยายนั้นน่าจะอยู่ราว ๆ ปี พ.ศ. 2558-59 แล้ว

ผลก็คือเรามีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) แบบเดิม ๆ ที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างที่เห็นกัน

ต่อมาจึงเกิดกระแส “ยุทธศาสตร์ชาติ” ขึ้นมา มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และแล้วไทยเราก็มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
(2561-2580) เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งหลังจากที่ผมได้อ่านอย่างละเอียดผมก็วิพากษ์ทันทีว่ายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนี้ก็ยังไม่ใช่ยุทธศาสตร์ชาติที่ดีที่ประเทศอื่นเขาเขียนกันแล้วพัฒนาประเทศสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลก็บอกขอให้รออ่านแผนแม่บท ฯ เสียก่อน ผมก็รอจนวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2562 ที่มีการประกาศแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติออกมา ซึ่งคราวนี้ยิ่งเลอะเทอะไปกันใหญ่ ทั้งการเขียน การตั้งเป้าหมาย การกำหนดตัวชี้วัด ที่ชวนร้องไห้ (อ่านย้อนหลังได้ที่ www.kasemsantaec.com)

ก่อนหน้าที่เราจะมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2561 รัฐบาลก็ได้ประกาศ “แผนปฏิรูปประเทศ” ออกมาหนึ่งฉบับ ก่อนที่จะทำการปรับปรุงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอีกครั้ง เรียกว่า “แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

สรุปแล้วจากที่เคยมีเพียงแผนเดียวคือแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตอนนี้ไทยเรามีถึงสี่คือ
หนึ่ง ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
สอง แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
สาม แผนปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และวันนี้เรากำลังจะมี
สี่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13
ซึ่งทุกแผนนั้นเขียนซ้ำกันไปซ้ำกันมา ในท่วงทำนองที่สวยหรู รู้ปัญหาสารพันแต่ (ดัน) ไม่รู้วิธีแก้ไข ขาดการวิเคราะห์และยอมรับปัญหาอย่างซื่อสัตย์ตรงไปตรงมาและขาด “แนวนโยบายปฏิบัติ” ที่จะเป็นแนวกำหนดว่าแต่ละหน่วยงานต้องทำ อะไร เมื่อไหร่ อย่างไร และงานที่ทำนั้นจะต้องไปเสริมกับหน่วยงานไหนอย่างไร ทำให้เกิดคำถามว่าแต่ละแผนสัมพันธ์กันอย่างไร เมื่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีซึ่งเป็นแผนหลักเขียนไว้แบบกว้างครอบคลุมจักรวาล ทำอะไรก็ถูกหมด (ซึ่งผิดหลักการเขียนยุทธศาสตร์อย่างมากที่สุด) แล้วถ้าแผนแม่บท ฯ แผนปฏิรูปประเทศและแผนฯ13 เขียนเปิดช่องหรือเขียนให้ทำในสิ่งที่ไม่ตรงกัน หรือเขียนเรื่องเดียวกันแต่ตั้งเป้าหมายไม่ตรงกัน ผู้ปฏิบัติงานควรจะยึดแผนหรือตัวเลขในแผนใด แล้วใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าต้องทำตามแผนใดก่อนหรือหลัง

ผมตอบให้เลยตรงนี้ว่า ก็ปล่อยให้กระทรวงหรือหน่วยงานเลือกหยิบไปทำกันเอง ทำแล้วผลออกมาถึงหรือไม่ถึงเป้าก็ไม่เป็นไร (แบบที่ผ่านมา) กระทรวงหรือหน่วยงานจึงเลือกเน้นทำงานแบบที่เคย ๆ ทำกันมาเพราะคุ้นเคยและง่ายดี ผลก็เลยเป็นแบบที่เห็น ที่น่าเป็นห่วงก็คือถ้ากระทรวงเลือกเอาโครงการที่มีการทอนได้ง่ายกว่ามาทำ ก็จะยิ่งซ้ำเติมปัญหาเรื่องคอรัปชั่นที่หนักอยู่แล้วให้หนักยิ่งขึ้นไปอีก

ทีมสภาพัฒน์ ฯ ถ้าหากอ่านมาถึงตรงนี้อาจจะเถียงในใจว่าเป็นไปไม่ได้ที่แผนต่าง ๆ จะเขียนไม่สอดคล้องกัน เพราะคนเขียนทุกแผนนั่นก็คือพวกเราทีมสภาพัฒน์ ฯ นั่นเองเพราะพวกเราคือเลขา ฯ ของกรรมการทุกชุด (เถียงในใจกันไปก่อนนะครับ วันหลังจะเขียนถึงจุดที่ไม่สอดคล้องและจุดที่ก๊อปปี้และตัดมาแปะแบบผิด ๆ ให้อ่าน)

ผมวิพากษ์ต่อว่า ร่างกรอบแผน ฯ 13 ที่ทางสภาพัฒน์ฯ บอกว่าเริ่มโฟกัสแล้วนั้น สำหรับผมยังกว้างและเคว้งคว้างเหมือนเดิม แต่มีความพยายามที่จะจัดหมวดหมู่ให้มันดูน้อยลง ให้เหลือแค่ “13 หมุดหมาย” แต่พออ่านรายละเอียดของทุกหมุดหมายแล้วก็พบว่าในแผน ฯ 13 นี่ยังขาดโฟกัสและยังอยากจะทำทุกอย่างเหมือนแผน ฯ 12 และแผน ฯ ก่อนหน้านี้ จะต่างจากแผนเดิมก็ตรงมีการใช้คำใหม่ “หมุดหมาย” นี่แหล่ะและรวบให้เหลือแค่ 13 ให้ตัวเลขสวยสอดคล้องกับแผน ฯ 13 เท่านั้นเอง

ผมจึงถามท่านเลขา ฯ สภาพัฒน์ ฯ ว่า ในทั้งหมด 13 หมุดหมายนี้ช่วยเรียงลำดับตามความสำคัญสำหรับประเทศไทยให้หน่อย ผมขอแค่ 3 หมุดหมาย ท่านเลขา ฯ จะเลือกหมุดหมายใดบ้าง? เราจะได้รู้ว่าจากนี้ไปสภาพัฒน์ฯจะโฟกัสเรื่องอะไรและโฟกัสได้ถูกจุดหรือยัง? ท่านเลขาฯตอบว่า สภาพัฒน์ฯคงตอบไม่ได้ แต่อยากให้สื่อมวลชนอาวุโสที่มาในวันนั้นเป็นคนช่วยตอบแทน !!!

อาทิตย์หน้าอ่านต่อครับ ***

อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 1
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 2
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 3
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 4
อ่านย้อนหลัง ตอนที่ 5 (จบ)

กรอบและทิศทางแผนฯ13
[smartslider3 slider="9"]