ตอน โควิดกับความเก่งของประเทศ
เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา “นิกเคอิ” หนังสือพิมพ์ธุรกิจชั้นแนวหน้าของญี่ปุ่นได้ทำการจัดอันดับ NIKKEI COVID-19 Recovery Index โดยจัดจากการจัดการการติดเชื้อ การฉีดวัคซีน และ การเดินทางเคลื่อนไหวของสังคม อันดับต้น ๆ หมายถึงประเทศใกล้จะฟื้นตัว ส่วนอันดับท้ายๆหมายถึงอีกนานกว่าจะฟื้นตัว
ไทยได้อันดับที่ 119 รองสุดท้ายจาก 120 อันดับซึ่งมีนามิเบีย และแอฟริกาใต้ ครองร่วมกันอยู่ ส่วนประเทศที่น่าสนใจได้อันดับ (ตัวเลขในวงเล็บ) ดังนี้ จีน (1) สิงคโปร์ (5) นิวซีแลนด์ (6) อิสราเอล (10) สหรัฐ (22) ออสเตรเลีย (39) ญี่ปุ่น (48) เกาหลีใต้ (51) สหราชอาณาจักร (55) ไต้หวัน (66) อินเดีย (75) บราซิล (79) สปป.ลาว (94) ฟิลิปปินส์ (101) กัมพูชา (105) อินโดนีเซีย (110) มาเลเซีย (114) เวียดนาม (114)
ในการจัดอันดับนั้น “นิกเคอิ” จะตรวจสอบข้อมูลทุกปลายเดือน หมายความว่าอันดับครั้งนี้เป็นการจัดอันดับจากข้อมูลของปลายเดือนมิถุนายน 2564 ที่ไทยมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละสองสามพันรายในช่วงครึ่งเดือนแรก ก่อนจะติดเชื้อเพิ่มเป็นเฉลี่ยวันละสี่ห้าพันรายในช่วงปลายเดือน ดังนั้นอย่าแปลกใจถ้าในการจัดอันดับคราวหน้าอันดับของไทยจะแย่ลงไปอีก แต่ถ้า “นิกเคอิ” ไม่เพิ่มจำนวนประเทศ อันดับของไทยก็คงตกลงไปไม่เกินสองตำแหน่ง ไม่แย่ไปกว่านี้มากนัก มองโลกแบบสวยงามกันบ้างก็สบายใจดี
อันดับของ “นิกเคอิ” ที่ประกาศออกมานั้นสอดคล้องกับการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย และหลายประเทศ ประเทศที่อยู่อันดับต้น ๆ เศรษฐกิจปีนี้จะเติบโตได้ดี บางประเทศคาดว่าจะเติบโตสูงเป็นประวัติการณ์ ส่วนไทยนั้นถ้าเติบโตได้ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ถือว่าโชคดีมาก ทำให้ผมต้องไปตรวจสอบว่าอันดับของ “นิกเคอิ” นั้นสอดคล้องกับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศของ Institute for Management Development : IMD ในสวิตเซอร์แลนด์ หรือไม่
IMD วัดความสามารถในการแข่งขันเพราะมีความเชื่อว่า ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงนั้นจะบ่งชี้ว่าประเทศจะสามารถบรรลุการเติบโตได้อย่างยั่งยืน สามารถสร้างงาน และสร้างสวัสดิภาพที่ดีให้เกิดกับประชาชนของประเทศนั้นได้ดี โดยจะวัดจาก สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาครัฐภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีความหมายกว้างกว่าถนนหนทางและรางรถไฟ แต่รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สาธารณสุขสิ่งแสดล้อม และการศึกษาด้วย
ในการจัดอันดับ IMD World Competitiveness Index ซึ่งปี 2564 นี้จัดอันดับเพียง 64 เขตเศรษฐกิจที่มีรายได้สูงและปานกลางเท่านั้น (ไม่เรียกประเทศเพราะมีฮ่องกงและไต้หวันด้วย เรียกประเทศเดี๋ยวต้องไปทะเลาะกับจีน) ไทยได้อันดับที่ 28 ดีขึ้นหนึ่งอันดับจากที่ 29 ปีที่แล้ว ส่วนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้ (อันดับ) ดังนี้ สิงคโปร์ (5) มาเลเซีย (25) อินโดนีเซีย (37) ฟิลิปปินส์ (52)
ประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันดีที่สุดในโลกคือ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ ส่วน สิงคโปร์ตกจากอันดับที่ 1 ในปีที่แล้วลงมาอันดับที่ 5 ในปีนี้ ฮ่องกงตกจากที่ 5 ไปอยู่ที่ 7 ขณะที่ไต้หวันทำได้ดีขึ้นมาจากอันดับที่ 11 ขึ้นมาติดอันดับที่ 8 ชนะสหรัฐซึ่งได้อันดับที่ 10 คงที่เท่ากับปีที่แล้ว
ความสามารถในการแข่งขันของไทยนั้นดูเผิน ๆ เหมือนจะดีขึ้นเพราะอันดับดีขึ้นมาหนึ่งอันดับ แต่พอลองดูย้อนหลังไปถึงปี 2553 อันดับที่ไทยเคยทำได้ดีที่สุดคือที่ 25 ในปี 2562 แย่ที่สุดคือที่ 30 ในหลายปี อาจสรุปได้ว่า 12 ปีที่ผ่านมาไทยไม่ได้เก่งขึ้นเลย หรือหากมองให้แง่ดีก็คือไม่ได้แย่ลงแต่เราเก่งเท่าเดิมมาโดยตลอด
ที่น่าสนใจก็คือสิบกว่าปีที่ผ่านมาทั้งอาเซียนเป็นเหมือนกันหมด สิงคโปร์ ร่วงจากที่ 1 ลงไปที่ 5 มาเลเซียซึ่งเคยเก่งเป็นที่ 10 ของโลกในปี 2553 ปีนี้ได้ที่ 25 อินโดนีเซียนั้นอันดับเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาระหว่างที่ 37 และ 42 ขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งความสามารถในการแข่งขันแย่สุดในกลุ่มนี้ทำท่าจะแย่ลงไปอีก ปีล่าสุดได้ที่ 52 ซึ่งไม่เคยได้อันดับต่ำเท่านี้มาก่อนในรอบ 12 ปี
ส่วนประเทศอื่น ๆ เช่น กลุ่ม จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ปี 2564 นี้จีนได้ที่ 16 ปีดีกว่าปีที่แล้วซึ่งได้ที่ 20 แต่เคยได้อันดับดีกว่านี้คือที่ 13 และ 14 ในช่วงปี 2561-62 สำหรับฮ่องกงซึ่งเคยเป็นเก่งเป็นที่หนึ่งที่สองของโลกมาเกือบตลอดในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา ปีที่แล้วตกลงมาอยู่ที่ 5 ของโลกซึ่งก็ว่าแย่แล้ว แต่ปี 2564 นี้ตกลงไปอยู่ที่ 7 อีก น่าจะเป็นเพราะความขัดแย้งกับทางจีนซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจฮ่องกงอย่างมาก ทำให้ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจของฮ่องกงตกลงไปอย่างน่าตกใจ แตกต่างจากไต้หวันซึ่งในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ปรับตัวดีขึ้นเก่งมากขึ้นจากที่ 17 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 16, 11 และ 8 ของโลกในปีล่าสุดนี้
เกาหลีใต้ซึ่งสองสามปีหลังมานี้ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน ล่าสุดเก่งเป็นที่ 23 ของโลกมาสองปีติดกันแล้ว ดีขึ้นจากที่เคยได้อันดับที่ 29 ในช่วงปี 2559-60 ต่างไปจากญี่ปุ่นที่ความสามารถในการแข่งขันค่อยๆลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้ที่ 31 แพ้ ฮ่องกง ไต้หวัน จีน เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ซึ่งได้ที่ 20 และออสเตรเลียอันดับที่ 22 และไทยไปแล้ว ส่วนอินเดียในช่วงสามปีล่าสุด 2562-64 ได้เดิมที่ 43 มาโดยตลอดและความเก่งนั้นแกว่งอยู่แถวๆอันดับที่ 43-44-45 มาตั้งปี 2557
เห็นแล้วนะครับว่าความสามารถในการรับมือกับโควิด-19 และความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่าง ๆ นั้นสอดคล้องกัน โควิดกับความเก่งของประเทศ โลกไม่ได้ดูแคลนหรือประเมินไทยต่ำเกินไป อาทิตย์หน้าจะเอาความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และความสามารถในการสร้าง และดึงดูดคนเก่งของประเทศต่าง ๆ ซึ่งเป็นอีกสองตัวชี้วัดที่สำคัญต่อการอยู่รอดของประเทศในอนาคตมาให้อ่านกัน
แต่ก็อย่าเพิ่งไปตั้งความหวังอะไรไว้มากนัก เพราะเมื่อไม่คาดหวังก็ย่อมจะไม่ผิดหวัง