Amazing AEC – การจัดการหน้ากากอนามัยแบบไต้หวัน

0
538

อาทิตย์ที่แล้วผมได้บอกว่าไต้หวันซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีคนติดเชื้อ COVID-19 อย่างมหาศาลเพราะอยู่ใกล้กับจีนและมีการเดินทางไปมาหาสู่กันมาก แต่ผลที่เกิดขึ้นจริงกลับตรงกันข้าม จนถึงเช้าวันศุกร์ที่ 13 มีนาคมไต้หวันมีผู้ติดเชื้อเพียง 49 รายและเสียชีวิต 1 ราย น้อยกว่าเมืองไทยเสียอีก เพราะไต้หวันได้เรียนรู้จากการระบาดของซาร์สว่าเมื่อเกิดโรคระบาดขนาดใหญ่ขึ้นมา เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องมีศูนย์บัญชาการกลางเพื่อรวมศูนย์การบัญชาการ และสื่อสาร รัฐบาลไต้หวันจึงได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Command Center : NHCC) เพื่อทำหน้าที่บัญชาการการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติร้ายแรงด้านโรคติดต่อ วันนี้จะขอยกตัวอย่างการจัดการหน้ากากอนามัยจะได้เห็นภาพชัดเจน

เมื่อศูนย์บัญชาการสุขภาพแห่งชาติ ได้รับคำสั่งให้เริ่มปฏิบัติงานในวันที่ 20 มกราคม อีกสองวันต่อมา ศูนย์บัญชาการฯ ก็ได้สั่งให้กระทรวงเศรษฐกิจประกาศกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยซึ่งในขณะนั้นสามารถผลิตได้วันละ 2.44 ล้านชิ้น ขณะที่มีความต้องการใช้วันละ 1.3 ล้านชิ้น เพื่อให้คนไต้หวันไม่ตื่นตระหนกว่าหน้ากากจะขาดแคลน ในขณะเดียวกันรัฐบาลไต้หวันก็เข้ามาแทรกแซงการกระจายหน้ากากอนามัยไปยังร้านค้าปลีกและกำหนดเพดานราคาไว้ที่ 50 ชิ้น 300 บาท

24 มกราคม ศูนย์บัญชาการฯ สั่งห้ามการส่งออกหน้ากากอนามัยจนถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และกำหนดให้ผู้เดินทางออกนอกไต้หวันสามารถนำหน้ากากอนามัยติดตัวไปได้ไม่เกินคนละ 50 ชิ้น ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับโทษทั้งจำและปรับ 30 มกราคมศูนย์บัญชาการฯ ประกาศว่าโรงงานในประเทศสามารถผลิตหน้ากากอนามัยได้เพิ่มขึ้นเป็น 4 ล้านชิ้นต่อวัน ในจำนวนนี้ 1.4 ล้านชิ้นจะถูกส่งไปยังโรงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก่อน ที่เหลือ 2.6 ล้านชิ้นจะถูกส่งไปยังร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อทั้งหลายโดยกำหนดราคาขั้นสูงไว้ให้ขายได้ไม่เกินชิ้นละ 8 บาท และแต่ละคนสามารถซื้อได้ครั้งละไม่เกิน 3 ชิ้น นอกจากนี้ศูนย์บัญชาการฯยังประกาศโทษผู้ขายของใช้เพื่อดูแลสุขภาพรวมถึงหน้ากากอนามัยที่ขายเกินราคาค้ากำไรเกินควร ให้มีโทษจำคุก 1 ถึง 7 ปีและปรับสูงสุด 5 ล้านบาท

31 มกราคม รัฐบาลเข้าควบคุมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย โดยกำหนดจะควบคุมจนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ วันต่อมาราคาหน้ากากอนามัยเริ่มลดลงเหลือชิ้นละ 6 บาท สองวันต่อมา ทหารเริ่มเข้าไปช่วยการผลิตหน้ากากอนามัย และได้มีการติดตั้งเครื่องจักรเพิ่มขึ้นอีก 60 เครื่อง อย่างเร่งด่วนในเวลาเพียง 1 เดือนจากเวลาติดตั้งปรกติที่จะกินเวลา 4-6 เดือน และตั้งเป้าจะกันหน้ากากอนามัย 10 เปอร์เซ็นต์ที่ผลิตได้เพิ่มเอาไว้แจกให้เฉพาะเด็กๆเท่านั้น ศูนย์บัญชาการฯประกาศว่าจะขยายกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยให้ผลิตได้วันละ 10 ล้านชิ้น

3 กุมภาพันธ์ ศูนย์บัญชาการฯประกาศหลักเกณฑ์การจัดสรรหน้ากากอนามัยตามรายชื่อบนบัตรประกันสุขภาพ ให้ผู้ถือบัตรฯ สามารถซื้อได้อาทิตย์ละ 2 ชิ้นในราคาชิ้นละ 5 บาท โดยผู้ถือบัตรที่มีเลขลงท้ายด้วยเลขคู่สามารถซื้อได้เฉพาะวันจันทร์ พุธและศุกร์ ส่วนผู้ถือบัตรที่ลงท้ายด้วยเลขคี่สามารถซื้อได้เฉพาะวันอังคาร พฤหัสและเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์ผู้ถือบัตรทุกคนสามารถซื้อได้ ผู้ถือบัตรสามารถซื้อแทนญาติหรือเพื่อนได้แต่ต้องแสดงบัตรคนอื่นด้วย ส่วนหน้ากากอนามัยของเด็กจะขายให้เฉพาะเด็กอายุไม่เกิน 12 ปีเท่านั้น มีการเริ่มใช้ APP เพื่อแสดงให้ประชาชนรู้ว่าร้านค้าใดมีหน้ากากอนามัยจำหน่ายบ้าง

เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์จำนวน 3,000 คน ได้รับมอบหมายให้จัดส่งหน้ากากอนามัยไปยังร้านขายยา 6,515 แห่งและศูนย์สุขภาพอีก 52 แห่ง โดยแต่ละแห่งจะได้รับหน้ากากอนามัยวันละ 200 ชิ้นและหน้ากากอนามัยของเด็กอีก 50 ชิ้น หน้ากากอนามัยเด็กจำนวน 500,000 ชิ้นถูกแจกไปยังโรงเรียนอนุบาลฟรีๆ

11 กุมภาพันธ์ รัฐบาลลงทุนอีก 200 ล้านบาทเพื่อซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตหน้ากากอนามัยเพิ่มเติมไปในสายการผลิต ทหารอีก 1,800 นายถูกส่งไปช่วยผลิตหน้ากากอนามัยใน 28 โรงงาน ทำให้สามารถผลิตได้มากถึงวันละ 5 ชิ้นทำให้เด็กๆมีสิทธิซื้อหน้ากากได้อาทิตย์ละ 4 ชิ้น ต่อมา ศูนย์บัญชาการฯประกาศขยายการควบคุมโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยและขยายการห้ามการส่งออกไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน 16 กุมภาพันธ์ มีหน้ากากอนามัยวางขายในศูนย์สาธารณสุขทั้ง 303 แห่งทั่วประเทศ ร้านค้าได้รับจัดสรรหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400 ชิ้น

23 กุมภาพันธ์ หน้ากากอีก 6.45 ล้านชิ้นถูกส่งไปยังโรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนพิเศษ พร้อมกับเครื่องวัดอุณหภูมิ 25,000 ชิ้น และแอลกอฮอล์สำหรับฆ่าเชื้อโรคอีก 84,000 ลิตร

การมีศูนย์บัญชาการสุขภาพแห่งชาติ ที่รวมศูนย์การคิด วางแผน สั่งการ บูรณาการและสื่อสารแบบไต้หวันจึงทำให้ปัญหาใหญ่กลายเป็นเรื่องเล็กๆได้อย่างน่าอะเมซิ่ง

[smartslider3 slider="9"]