วันสองวันมานี้ กรุงเทพมหานครก็มีโอกาสได้ต้อนรับผู้นำระดับสูงสุดของประเทศต่างๆในอาเซียนและประเทศคู่เจรจาอีกครั้งหนึ่งในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนที่ผลัดกันเป็นตามวาระ
ตั้งแต่ปลายปีพ.ศ. 2558 ที่พวกเราได้กลายเป็นประชาคมเดียวกัน ซึ่งหมายความว่าพวกเราทั้งสิบประเทศจะร่วมมือกันอย่างจริงจังมากขึ้น เป็นหนึ่งเดียวกันมากยิ่งขึ้น แต่ในความเป็นจริงคนไทยส่วนมากรวมถึงหน่วยราชการไทยส่วนใหญ่ยังคิดแยกส่วน คิดแบบไทยคือไทย เพื่อนบ้านคือเพื่อนบ้าน คิดถึงผลประโยชน์ของไทยเป็นหลักเหมือนเดิม
ความจริงที่น่าเจ็บปวดก็คือ ไทยเราขณะนี้อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอที่สุดในอาเซียน ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง ไทยเราต้องการความช่วยเหลือจากอาเซียนโดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม
หากไทยเราซึ่งโชคดีกว่าพัฒนาได้เร็วกว่าในยุคก่อน ทำตัวเป็นศูนย์กลางเพื่อนบ้าน เอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือ แบ่งปัน กับกลุ่ม ประเทศ CLMV อย่างเต็มที่ สภาพเศรษฐกิจเราคงจะดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แต่เพราะไทยเราทะนงตนหลงผิด คิดว่า เราดีกว่าเก่งกว่ามีโอกาสมากกว่า เราจึงมองข้ามการทำงานเป็นทีมกับเพื่อนบ้านในการที่จะร่วมกันพัฒนาประเทศร่วม กันดึงดูดการลงทุนและนักท่องเที่ยว
ยกตัวอย่างเช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ แทนที่เราจะยอมรับความจริงว่าเราเริ่มต้นเรื่องนี้ช้ากว่าเพื่อนบ้าน ดังนั้นเมื่อคิดจะทำบ้าง เราก็ควรจะปรึกษาหารือกับเพื่อนบ้านว่าไทยควรจะมีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไร เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย เราจึงจะไปเสริมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของเพื่อนบ้าน และพวกเราต่างก็จะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นร่วมกันหมด
แต่เรากลับคิดมุมของประเทศไทยมุมเดียว และกังวลเรื่องแรงงานประเทศเพื่อนบ้านที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานในไทยเราจึง วางเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 แห่งไว้ตามจังหวัดชายแดนทั้งหมด โดยคาดหวังว่าจะมีเอกชนต่างชาติและไทยไปลงทุนและ แรงงานต่างชาติก็เข้ามาทำงานแค่ในจังหวัดชายแดน ไม่ต้องเข้าถึงใจกลางประเทศ เดี๋ยวประเทศไม่มั่นคง ยิ่งมาเช้าเย็น กลับไปนอนประเทศตัวเองได้ก็ยิ่งดี
นอกจากจะไม่มีเอกชนรายไหนสนใจไปลงทุนตามชายแดนแล้ว เพราะถ้านักลงทุนจะลงทุนเขาก็ต้องในทำเลยุทธศาสตร์ ใกล้ท่าเรือ ใกล้สนามบินเพื่อประโยชน์สูงสุดด้านโลจิสติกแล้ว ยังทำให้เพื่อนบ้านมองไทยแบบเคืองๆกันอีกต่างหากว่า เจริญกว่าเขาแล้วพอเขาเริ่มทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้วไทยเราก็ยังไปทำแข่งกับเขาอีก แถมยังไปตั้งใกล้ๆประเทศเขาตั้งใจ จะไปแย่งนักลงทุนต่างชาติจากเขาหรืออย่างไร?
ผมเคยพาคณะไปดูงานเขตเศรษฐกิจพิเศษของเพื่อนบ้าน ผู้บริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษเขาบ่นเชิงน้อยใจให้ผมและคณะ ฟังเช่นนั้น แถมเล่าให้ฟังต่ออีกว่าพอคณะผมกลับไปแล้ว เดี๋ยวจะมีคณะจากรัฐบาลไทยมาดูงานเขตเศรษฐกิจพิเศษนั้น เช่นกัน โดยระบุมาล่วงหน้าเลยว่าขอมาดูการให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุน ผู้บริหารท่านบอกผมว่าดูสิจะไม่ให้น้อยใจไทย อย่างไร มาตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษประชิดชายแดนเขายังไม่พอยังกล้าขอไปดูงานเขาอีก พวกคนไทยที่ได้ยินก็ได้แต่ทำหน้า จ๋อยๆ
ถ้าผมเป็นรัฐบาลไทย เมื่อคิดจะทำเขตเศรษฐกิจพิเศษและอยากจะวางไว้ชายแดน ผมจะปรึกษาเพื่อนบ้านว่าเขาอยากให้ ไทยเรามีนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างไรจึงจะไปเสริมจุดแข็งเขตเศรษฐกิจพิเศษของเพื่อนบ้าน แล้วเราจะได้ช่วยกัน ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศร่วมกันพัฒนาไปร่วมกัน
เมื่อคิดผิด เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยจึงไม่เกิดแม้แต่แห่งเดียว รัฐบาลไทยก็เลยแก้ด้วยการเปลี่ยนชื่อเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน แล้วพยายามหันเหความสนใจของคนไทยให้ไปสนใจเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซีแทน