Amazing AEC – เพียซาขะแมร์

0
700

แปลกดีนะครับ ภาษากัมพูชานั้นคล้ายคลึงกับภาษาไทยค่อนข้างมาก แต่คนไทยน้อยคนนักที่จะเข้าใจ วันนี้เราลองมา

เรียนรู้ “เพียซาขะแมร์” กันดูนะครับ คำว่า เพียซา คือ ภาษา ส่วนคำว่า ขะแมร์ ก็คือ กัมพูชาครับ

เรามาเริ่มที่คำทักทายกันเสียก่อน ถ้าจะทักทายให้เป็นทางการก็ต้องพูดว่า “จุมเรียบซัว” ซึ่งเป็นคำทักทายที่ใช้ได้ทั้งวัน ส่วนการทักทาย “สวัสดี” แบบคนกันเองนั้นเพียซาขะแมร์ พูดว่า “ซัวซเด็ย” ออกเสียงคล้ายๆคำว่าสวัสดีของเราเลย ใช่มั้ยครับ ถ้าทักทายตอนเช้าที่คนไทยเราพูดว่า อรุณสวัสดิ์ เพียซาขะแมร์ พูดว่า อรุนซัวซเด็ย ส่วนคำว่า ราตรีสวัสดิ์นั้น เพียซาขะแมร์พูดว่า ราเตรยซัวซเด็ย อรุนของเขาคืออรุณของเราและราเตรยของเขาก็คือราตรีของเรา คล้ายกันอีกแล้ว

ถ้าจะถามว่า สบายดีไหม? เพียซาขะแมร์จะพูดว่า ซกสะบายดี? ซึ่งมีความหมายตรงกับภาษาไทยว่า “สุขสบายดี? ถ้าเรารู้สึกสบายดีก็ตอบว่า ซกสะบายดี  ถ้าจะให้สุภาพหน่อยผู้หญิงก็ให้เติมคำว่าค่ะ “จ้ะ” ส่วนผู้ชายให้เติมคำว่าครับ “บาด”ไปข้างหน้า เช่น จ้ะ ซกสะบายดีหรือ บาด ซกสะบายดี ง่ายมั้ยครับ

ถ้าผมพูดว่า จุมเรียบซัวบาด คญมชะมัวเกษมสันต์ พอแปลออกมั้ยครับว่าผมพูดว่าอะไร?  จุมเรียบซัวบาด (สวัสดีครับ) คญม (ผม) ชะมัว (ชื่อ) เกษมสันต์ ถ้าตั้งใจและเปิดใจรับภาษากัมพูชาจริงเราจะพอเดาได้ว่า คญมชะมัว น่าจะหมายความถึงผมชื่อ ใช่มั้ยครับ คำว่า คญม (ออกเสียงว่า ค่ะยม) ใช้แทนตัวเองได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงนะครับ ถ้าจะสวัสดีและแนะนำชื่อตัวเองว่าชื่อชุติมา ก็แค่พูดว่า จุมเรียบซัวจ้ะ คญมชะมัวชุติมา ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ

คำว่า “ขอบคุณ” นั้น เพียซาขะแมร์พูดว่า “ออกุน” ซึ่งออกเสียงคล้ายคำว่าขอบคุณ และถ้าจะพูดว่า ขอบคุณมาก ก็เติมคำว่า “จะเริน” ซึ่งบางคนก็ออกเสียงรวบๆว่า “เฉิน” เป็น ออกุนจะเริน หรือ ออกุนเฉิน ครับ สังเกตมั้ยครับคนไทยเวลาทานข้าว ได้มากๆ เราพูดว่าอะไรครับ? “เจริญอาหาร” ใช่มั้ยครับ? เราเองก็จะใช้คำว่า “เจริญ” ในความหมายว่ามากเหมือนกันเห็น มั้ยครับ  ถ้าจะขอบคุณให้เป็นทางการหน่อยก็จะต้องพูดว่า “โซมออกุน” ที่หมายถึง ขอขอบคุณ ซึ่งคำว่า โซม หมายถึง “ขอ” เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดว่า “ได้โปรดกรุณาหรือได้โปรดเมตตา” ก็ต้องพูดว่า “โซมเมตตา” ซึ่งก็คล้ายภาษาไทยอีก ถ้าจะพูดว่าขอโทษใน เพียซาขะแมร์ ก็ต้องพูดว่า “โซมโตฮ” (ออกเสียงว่า “โซมโต้ก”) คำว่า “โตฮ” ก็คือคำว่า “โทษ” ในภาษาไทยเรานั่นเอง และคำว่า “โซม” นั้นยังใช้ กับการขอหรือสั่งของได้อีกด้วย เช่นถ้าจะสั่งเบียร์หนึ่งขวดก็ต้องพูดว่า “โซมเบียร์มวยด็อบ”

การนับเลขของกัมพูชานั้นค่อนข้างแปลกในการนับหนึ่งถึงสิบเพราะ เขาจะนับว่า มวย (หนึ่ง) ปี (สอง) ไบย (สาม) บวน (สี่) ปรัม (ห้า) ส่วน หก เจ็ด แปด และเก้านั้นเขาจะนับว่า ห้าหนึ่ง ห้าสอง ห้าสามและห้าสี่ ซึ่งพูดว่า ปรัมมวย (หก) ปรัมบี (เจ็ด) ปรัมไบย (แปด) และ ปรัมบวน (เก้า) ส่วนสิบเขาพูดว่า ด็อบ ครับ และศูนย์ เขาพูด โซว์น ออกเสียงคล้ายศูนย์ของ ภาษาไทยแต่เสียงไม่สูงเท่านั้นเอง

ถ้าจะนับสิบเอ็ด สิบสอง ก็เอาด็อบ (10) และ มวย (1) หรือ ปี (2) มาต่อ เป็น ด็อบมวย (11) ด็อบปี (12) จนถึง มะเพ่ย (20) แต่พอนับถึง สามสิบ สี่สิบ จนถึงเก้าสิบแล้ว การออกเสียงจะคล้ายกับการนับเลขของไทยเรามากเลยนะครับ เพราะคนกัมพูชาเขาจะนับแบบนี้ครับ ซามเซิป (30) แซเซิป (40)  ฮาเซิป (50) ฮกเซิป (60) เจิดเซิป (70) แปดเซิป (80) เกาเซิป (90) พอถึง 100 เขาก็เอา มวย (1) มารวมกับ โรย (ร้อย) เป็น มวยโรย (100) พอขึ้นหลักพันหมื่นแสนล้าน การออกเสียงก็ยังคล้ายกับภาษาไทยอยู่ เพราะเขาออกเสียงกันแบบนี้ครับ ป็วน (พัน) เมิน (หมื่น) แซน (แสน) เลียน (ล้าน) ถ้าจะพูดหนึ่งล้านก็ต้องพูดว่า “มวยเลียน” ครับ การนับเลขที่มีการออกเสียงคล้ายกันว่าน่าอะเมซิ่งแล้ว การเขียนเลขยิ่งน่าอะเมซิ่งไปใหญ่ เพราะเลขไทยที่เราเขียนกันนั้น คนกัมพูชาเขาก็เขียนเหมือนเราแบบเป๊ะๆ ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่าเราไปเขียนเหมือนเขาเป๊ะๆถึงจะถูกต้องครับ

[smartslider3 slider="9"]