Amazing AEC – เสด็จพระราชดำเนินเยือน AEC

0
584

ตลอดระยะเวลา 70 ปี ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงครองสิริราชสมบัติ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน ประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ รวมทั้งสิ้น 27 ประเทศ ในช่วงปี พ.ศ. 2502-2510 โดยมีประเทศใน AEC ทั้งหมด 6 ประเทศ คือ เวียดนามใต้ อินโดนีเซีย  เมียนมา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สปป.ลาว ส่วนประเทศที่ไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือน คือ บรูไน กัมพูชา และสิงคโปร์

ประเทศแรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนอย่างเป็นทางการ คือ ประเทศเวียดนามใต้ ระหว่างวันที่ 18–21 ธันวาคม พ.ศ. 2502 ตาม             คำกราบบังคมทูลเชิญของประธานาธิบดีโงดินห์เดียม ในการเสด็จฯครั้งนั้น มหาวิทยาลัยไซ่ง่อนได้ทูลเกล้าฯ ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้านกฎหมาย ประเทศที่สองที่เสด็จฯ คือ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 8-16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2503 ประธานาธิบดีซูการ์โน ได้กราบทูลในการรับเสด็จฯ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า “…ไทยกับอินโดนีเซียได้มีประวัติศาสตร์แห่งความเป็นมิตรมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว มีสิ่งของและอาหารหลายอย่างของอินโดนีเซียมีคำว่า “ไซมิส” เป็นคุณศัพท์รวมอยู่ด้วย คำว่าไซมิส มาจากคำว่า “สยาม” อันเป็นชื่อเดิมของประเทศไทย” ในการเสด็จฯ เยือนครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูง ให้แก่ประธานาธิบดีซูการ์โน รัฐมนตรี และเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำประเทศไทย  พร้อมกันนั้น มหาวิทยาลัยกัดจาห์มาดา มหาวิทยาลัยชื่อดังของเมืองยอกยาการ์ตา ซึ่งประธานาธิบดีโจโควีเป็นศิษย์เก่า ได้ทูลเกล้าฯถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระองค์ท่าน

วันที่ 2–5 มีนาคมปีเดียวกัน ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหภาพพม่า (ชื่อขณะนั้น) ประธานาธิบดี อูวินหม่อง ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องอิสริยาภรณ์อัครมหาสิริธรรมะ ซึ่งเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดของสหภาพพม่า และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้าแก่ประธานาธิบดี ในการเสด็จฯครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการเจดีย์ชเวดากองและทรงถวายเงินบำรุงเป็นพุทธบูชา จำนวน 2,503 จ๊าต เท่ากับอายุของพระพุทธศาสนาตามปี พ.ศ.ของไทยนั่นเอง

วันที่ 20–27 มิถุนายน พ.ศ. 2505 ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหพันธรัฐมลายา หรือมาเลเซียในปัจจุบัน เมื่อเสด็จฯ ถึง กรุงกัวลาลัมเปอร์ ยังดี เปอร์ตวน อากง กษัตริย์มลายา และประไหมสุหรี (พระราชินี) ได้มาเฝ้ารับเสด็จฯ ณ ท่าอากาศยานกัวลาลัมเปอร์  ในการเสด็จฯ เยือน พระองค์ทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด โดยกษัตริย์มลายาทรงถวายพระนามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ว่า “Our Royal Brother and Friend” ซึ่งในการเสด็จฯครั้งนั้น พระองค์ได้ทรงเปิดระบบโทรศัพท์ติดต่อทางไกลระหว่างไทยกับสหพันธรัฐมลายาด้วย และในปีถัดมา พ.ศ. 2506 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ระหว่างวันที่ 9–14 กรกฎาคม

ประเทศแคนาดาเป็นประเทศสุดท้ายที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2510 หลังจากนั้น ก็มิเคยเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชอาณาจักร เพื่อทรงเยือนประเทศใดๆ อีกเลย เพราะพระองค์ทรงเห็นว่า พระราชภารกิจในการทรงงานเพื่อความผาสุกของประชาชนของพระองค์นั้นมีความสำคัญยิ่ง หากประเทศใดกราบบังคมทูลเชิญให้เสด็จฯไปเยือน ก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง เช่นพระราชโอรส หรือพระราชธิดา เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ แต่ใน พ.ศ. 2537 ระหว่างวันที่ 8-9 เมษายน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวอย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นการเสด็จฯ เยือนต่างประเทศอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ทรงว่างเว้นจากการเสด็จฯ มาเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี  ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ซึ่งเป็นสะพานแรกที่สร้างเชื่อมดินแดนของทั้งสองประเทศเข้าด้วยกัน ร่วมกับ ฯพณฯหนูฮัก พูมสะหวัน ประธานประเทศแห่ง สปป. ลาวในขณะนั้น เมื่อทรงประกอบพิธีเปิดสะพานแล้ว ได้เสด็จพระราชดำเนินต่อไปทรงงานยังโครงการพระราชดำริต่างๆ ที่ได้พระราชทานให้แก่ประชาชนลาวมาก่อนหน้านั้น

[smartslider3 slider="9"]