อาทิตย์ที่แล้วผมเริ่มเขียนถึงการฟื้นฟูแจแปนแอร์ไลน์ของนายอินาโมริ คาซึโอะ ว่าถ้าหากการบินไทยจะแนวทางดังกล่าวมาใช้ก็จะต้องระวัง 8 จุดอันตรายคือ หนึ่ง “ผู้นำสำคัญสุด” และสอง “คนสำคัญคือคนการบินไทย” วันนี้ขอเขียนต่อถึงจุดอันตรายจุดต่อไป
สาม “มีค่านิยมที่ถูกต้อง” ทุกองค์กรที่แข็งแรงยั่งยืนในโลกล้วนแล้วแต่มีค่านิยมหลัก (Core Value) ที่ชัดเจนเป็นประโยชน์ต่อสังคมซึ่งจะเป็นแนวทางที่พนักงานทุกคนสามารถนำเอาไปใช้ในการตัดสินใจในการทำงานทุกๆเรื่อง เมื่อตอนที่นายคาซึโอะเข้าไปฟื้นฟูนั้นค่านิยมของแจแปนแอร์ไลน์นั้นไม่ชัดเจน ผู้บริหารและพนักงานทำงานกันแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว นายคาซึโอะจึงได้เอาค่านิยมหลักของเคียวเซร่าและเคดีดีไอ สองบริษัทซึ่งเขาก่อตั้งและประสบความสำเร็จอย่างมากมาปรับปรุงใช้กับแจแปนแอร์ไลน์
เมื่อพบกันครั้งแรก นายคาซึโอะบอกกับพนักงานว่า “ให้ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูอย่างแน่วแน่ ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็อย่าได้ยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นข้อแก้ตัว พนักงานทุกคนจะต้องมุ่งมั่นทำงานให้ไปถึงจุดหมายที่ตั้งไว้และต้องทุ่มเทจนสุดกำลัง ต้องมี “จิตวิญญาณนักสู้ที่ลุกโชน” จึงจะฟื้นฟูได้สำเร็จ แค่พูดยังไม่พอเขายังให้พิมพ์ข้อความนี้ติดไว้จนทั่วแจแปนแอร์ไลน์
ต่อมาเขาก็เรียกผู้บริหาร 50 คนมาอบรมการเป็นผู้นำอยู่นานเป็นเดือน โดยมีเป้าหมายคือทำให้ผู้บริหารเข้าใจแนวคิดที่จำเป็นต่อการ บริหารและวิถีแห่งการเป็นผู้นำผ่านปรัชญาการบริหารของเขา ซึ่งมีแนวคิดที่ชัดเจนว่าผู้นำต้องมีความเป็นมนุษย์ที่ยอดเยี่ยมเพื่อให้ ลูกน้องเคารพนับถือ ขณะเดียวกันผู้นำก็ต้องพยายามทำเป้าหมายที่ตั้งไว้ให้สำเร็จลุล่วง ต้องมีความตั้งใจแรงกล้าและมาตรฐานของ การตัดสินใจของผู้นำหรือผู้บริหารก็คือ “ทำสิ่งที่ถูกต้องในฐานะมนุษย์”
หลังจากนั้นเขาได้เรียกผู้บริหารมาเพื่อร่วมกันกำหนด “ปรัชญาการดำเนินธุรกิจขององค์กร” ใหม่ซึ่งก็คือ “JAL Group จะพยายาม ทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขทั้งทางวัตถุและจิตใจ นำเสนอบริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าและอุทิศตนเพื่อความก้าวหน้าของสังคม และเพิ่มคุณค่าขององค์กร”
การประกาศว่าความสุขของพนักงานต้องมาก่อน อาจจะดูแปลกแต่ไม่ใช่ว่าแจแปนแอร์ไลน์จะไม่เห็นความสำคัญของลูกค้า หากไม่ ทำให้พนักงานรู้สึกจากใจจริงว่า “โชคดีที่เราได้ทำงานที่แจแปนแอร์ไลน์ ” พนักงานก็คงจะให้บริการที่ดีที่สุดกับลูกค้าไม่ได้และคง ไม่สามารถเพิ่มคุณค่าให้องค์กรเพื่อตอบแทนผู้ถือหุ้นและคงไม่สามารถอุทิศตนเพื่อสังคม ดังนั้นจึงเป็นความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้อง ยกเอาแนวคิด “พยายามทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขทั้งทางวัตถุและทางใจ” ขึ้นมาเป็นปรัชญาธุรกิจขององค์กรเสียก่อนเป็นเรื่องแรก
ค่านิยมหลักอีกด้านก็คือ “การให้บริการที่ปลอดภัย น่าพึงพอใจและสะดวกสบายเป็นอันดับหนึ่งในโลกแก่ลูกค้า นอกจากนี้พนักงานแจแปนแอร์ไลน์ ทุกคนจะต้องตระหนักถึงผลกำไรและมีใจไม่ย่อท้อ เพิ่มผลกำไร มีเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น เสียภาษีและอุทิศตนต่อ สังคมโดยพยายามใช้วิธีที่เที่ยงธรรมเพื่อประกาศให้รู้ว่าได้ทำหน้าที่สมบูรณ์แบบในฐานะสมาชิกคนหนึ่งของสังคม”
แม้จะมีคนวิจารณ์ว่าค่านิยมหลักที่ว่า “พยายามทำให้พนักงานทุกคนมีความสุขทั้งทางวัตถุและทางใจ” นั้นไม่เหมาะสมกับธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสาธารณะและได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่นายคาซึโอะก็ยืนยันว่าไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดก็ตาม การดำรงอยู่ขององค์กรเพื่อความสุขของพนักงานทุกคนที่ทำงานจะต้องมีเป็นอย่างแรก เพราะนี่เป็นสิ่งที่เขาเชื่อมั่นอย่างมากและจะ ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง แม้ว่าบริษัทนั้นเป็นของผู้ถือหุ้นและเป้าหมายสุดท้ายของการบริหารก็คือการทำให้หุ้นมีราคาสูงสุดนั้นเป็นเรื่องสำคัญ แต่การทำให้พนักงานทุกคนทำงานอย่างมีความสุข ทำงานด้วยความภาคภูมิใจนั้นคือพื้นฐานสำคัญในการบริหาร เพราะการทำเช่นนี้จะช่วยให้ ผลประกอบการของบริษัทดีมีกำไรและจะทำให้หุ้นของบริษัทมีราคาสูงขึ้นในที่สุด ดังนั้นค่านิยมหลักที่ว่า “พยายามทำให้พนักงาน ทุกคนมีความสุขทั้งทางวัตถุและทางใจ” จึงเป็นการสร้างกำลังใจแก่พนักงานที่กำลังท้อแท้หมดหวังเพราะเงื่อนไขการจ้างที่แย่ลง กลับมีกำลังใจและฉุกคิดได้ว่าแจแปนแอร์ไลน์ คือบริษัทของพวกเราเพราะฉะนั้นพวกเราต้องทำงานให้หนักและปกป้องบริษัทให้เต็มที่ และทำให้คนนับถือให้จงได้ เมื่อคิดได้เช่นนี้ก็เท่ากับว่าพวกเขาเริ่มตระหนักแล้วว่าการฟื้นฟูเป็นเรื่องของพวกเขานั่นเอง
ข้อสามนี่เขียนยาวหน่อยเพราะผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญมากที่องค์กรในเมืองไทยมักจะมองข้าม และในการฟื้นฟูการบินไทยครั้งนี้ต้องการ “ค่านิยมหลัก” ที่ดีและถูกต้องเป็นอย่างมาก