เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมมีโอกาสเดินทางไปเที่ยว “ไหหนาน” ที่คนไทยคุ้นหูกันมากกว่าในชื่อ “ไหหลำ” ความจริงคุณพ่อเกษม โรจนสิงห์สวัสดิ์ประธานผู้ก่อตั้ง “ร้านหลงฉวน” ร้านดังประจำมณฑล ตั้งใจพาไปทาน “ไก่ไหหลำ” และอาหารอร่อยอีกนานาชนิดของที่ร้าน ซึ่งก็อร่อยจริงสมคำร่ำลือ แต่ฉบับนี้ผมจะขอเล่าเรื่อง การดูแลเมืองของไหหลำทางด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวก่อน
เมืองแรกที่ผมไปคือเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง “ซันย่า” ซึ่งเป็นเมืองชายทะเลที่โด่งดังที่สุดของจีน ที่คนมีฐานะ จะต้องมาซื้อบ้านหลังที่สองเอาไว้พักผ่อนและเอาไว้หนีหนาวเพราะอากาศที่ซันย่าดีทั้งปี ไม่มีหนาว แถมคน ยุโรปโดยเฉพาะคนรัสเซียก็นิยมหนีหนาวมาพักที่นี่ บางคนถึงกับขนานนามที่นี่ว่า “ฮาวายของจีน” สิ่งแรกที่รู้สึก ได้ทันทีคือแม้บนถนนจะเต็มไปด้วยรถยนต์และมอเตอร์ไซค์แต่กลับไม่ค่อยได้ยินเสียงรถเท่าไหร่ แถมอากาศยัง ไม่ค่อยมีควันเหม็นๆแบบกรุงเทพเท่าไหร่ เพราะที่ซันย่าและในเขตเมืองไหหลำนั้น เขายังคับให้ใช้ “จักรยาน หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า” หรือ ebikes กันอย่างเดียว ห้ามใช้มอเตอร์ไซค์น้ำมัน
ebikes ในจีนนี่มีสองแบบนะครับ แบบแรกเป็นแบบจักรยานถีบบ้านเราแต่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเสริมเข้าไป และ แบบที่สองเป็นแบบมอเตอร์ไซค์บ้านเราแต่ที่เท้าจะมีแกนไว้ปั่นเหมือนจักรยาน จะได้เข้าข่าย “จักรยาน” ตามนิยามของกฎหมาย
ด้วยความเป็น “จักรยาน” คนที่จะขี่ ebikes ได้จึงไม่ต้องมีใบขับขี่ ไม่ต้องสวมหมวกกันน็อค ราคาก็ไม่แพง มีเงิน 3-4 พันบาทก็ซื้อได้แล้ว แถมการชาร์จไฟก็ใช้ไฟบ้านธรรมดาและค่าไฟที่ใช้ชาร์จก็แค่ 6-7 บาทต่อวัน ebikes จึงเป็นคำตอบสุดท้ายของคนจีนที่มีฐานะธรรมดาและยากจนแต่พักอาศัยอยู่นอกเมืองหรือไกลระบบขนส่งสาธารณะ ด้วยเงื่อนไขและราคาที่สบายๆทำให้คนจีนซื้อ ebikes มาขี่กันแล้วมากกว่า 200 ล้านคัน และยังมีการซื้อเพิ่ม กันอีกปีละมากกว่า 35 ล้านคัน
ผมมีโอกาสยืนสังเกต ebikes ที่วิ่งไปวิ่งมาในซันย่าและไหโขว่เมืองหลวง พบว่า ebikes นี่เงียบกริบเลยนะครับ ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย แถมไม่มีกลิ่นควันเสียเหมือนมอเตอร์ไซค์ในบ้านเรา เลยอยากให้เอามาใช้ในเมืองไทย โดยเฉพาะกทม.ที่เต็มไปด้วยมอเตอร์ไซค์เสียงดังเป็นมลพิษทางเสียงอย่างยิ่ง อีกเรื่องที่ผมชอบมากก็คือที่ไหหลำ เขามีกฎหมายห้าม “บีบแตร” ถ้าบีบแตรจะโดนปรับเลยทำให้บนท้องถนนในไหหลำเงียบสงบกว่าบ้านเรามาก
แต่ด้วยความที่เป็นจักรยาน ไม่ต้องมีใบขับขี่ เมืองใหญ่ๆในจีนจึงมีปัญหาที่ผู้ขี่ ebikes ไม่ค่อยทำตามกฎจราจร เช่นขี่นอกเลนจักรยาน ขี่สวนทาง ขี่บนทางเท้า เปลี่ยนเลนปุ๊บปั๊บ ทำให้เกิดอุบัติเหตุค่อนข้างบ่อย เมืองใหญ่ หลายเมืองจึงออกกฎห้ามขี่ ebikes ในเมือง แต่ที่ไหหลำกลับตรงกันข้ามเพราะที่นี่บังคับให้คนใช้กันแต่ ebikes
นอกจาก ebikes ไหหลำเขาก็พยายามส่งเสริมให้คนไหหลำใช้ “รถไฟฟ้า” ซึ่งมีให้เห็นตามท้องถนนมากพอ สมควร พอสอบถามถึงราคาทำเอาคณะที่เดินทางไปด้วยกันถึงกับร้องฮืออยากซื้อมาขับกันเป็นแถว เพราะถ้า เป็นรถไฟฟ้าขนาดสองที่นั่ง ดีไซน์น่ารักๆ ค่าเช่าเดือนละ 6,000 บาท ค่าประกันปีละ 5,000 บาท ค่าซ่อมใน 3 ปีแรกก็แทบไม่มีอะไร ค่าไฟก็ไม่แพง และถ้าเช่าครบ 3 ปีรถไฟฟ้าจะตกเป็นของเราผู้เช่า น่าสนใจใช่ไหมครับ ถ้าจะเช่ารถที่ใหญ่กว่านั้นหน่อยคือรถ 4 ที่นั่ง ค่าเช่าก็จะตกอยู่แค่เดือนละ 9,000 บาทเท่านั้นเอง
ทั้ง ebikes และรถไฟฟ้า นั้นการผลิตไม่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงส่งอะไรมากมาย ดังนั้นจึงมีผู้ผลิตชาวจีนจำนวนมาก ที่สามารถผลิตได้ทั้งสองประเภท ผมว่าไทยเองแม้ว่าจะเป็นเจ้าแห่งการผลิตและส่งออกรถปิ๊กอัพ รถเก๋งและ มอเตอร์ไซค์ แต่ด้วยความที่ไม่สนใจเรื่อง “การถ่ายทอดเทคโนโลยี” ผมจึงเชื่อว่าคนไทยยังไม่มีความรู้และ เทคโนโลยีดีพอที่จะผลิตรถยนต์และมอเตอร์ไซค์แบบใช้น้ำมันได้ดีเท่ากับญี่ปุ่นแน่ๆ แต่ถ้าพูดถึงรถไฟฟ้าและ ebikes ผมว่าไม่น่าจะยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการชาวไทย ปัญหาเดียวที่เห็นคือการจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบ การชาวไทยผลิตรถไฟฟ้าและ ebikes จะโดนบล็อคโดยผู้ประกอบการต่างชาติที่กำลังสนุกกับการโกยกำไรจาก รถยนต์และมอเตอร์ไซค์น้ำมันที่ไทยเราน่าจะได้แต่ค่าแรง
พูดถึงรถไฟฟ้า ผมอยากให้จับตา “รถโปรตอนไฟฟ้า” ของมาเลเซียที่เขาซุ่มพัฒนาจนสามารถแข่งกับโลกได้ ตอนแข่งกันเรื่องรถใช้น้ำมันเขาสู้เราไม่ได้เพราะมาเลเซียเลือกที่จะพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเอง แต่ยากเกินไป แถมตลาดมาเลเซียก็เล็กเกินไป แต่พอถึงยุครถไฟฟ้าที่มาเลเซียมีเทคโนโลยีพร้อม และยังสามารถไปชวนเอา อินโดนีเซียมาร่วมมือกัน ตลาดเลยใหญ่ขึ้น อุตสาหกรรมรถไฟฟ้าในมาเลเซียจึงน่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
พูดถึง ebikes ในไหหลำ ก็ต้องพูดถึงมอเตอร์ไซค์ในเวียดนามกันหน่อย เพราะประเทศนี้เขามีมอเตอร์ไซค์วิ่งกัน ทั้งประเทศมากกว่า 50 ล้านคัน แม้มอเตอร์ไซค์จะเป็นยานยนต์หลักในการเดินทางของคนเวียดนาม แต่ตอนนี้ เวียดนามโดยเฉพาะในฮานอยก็กำลังคิดถึงมาตรการที่จะห้ามมอเตอร์ไซค์วิ่งในเมืองหลวง เพราะเขาต้องการจะ จัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมและการจราจรให้ดียิ่งขึ้น น่าจับตาว่าเวียดนามจะบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ได้หรือไม่ หลังจากทำสำเร็จในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการสวมหมวกกันน็อคได้สำเร็จอย่างน่าอะเมซิ่งมาแล้ว
จะว่าไปแล้วใน AEC ทั้ง 10 ประเทศเวียดนามน่าจะเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังเรื่องการดูแลโลกและสิ่งแวด ล้อมมากที่สุด ในช่วงยี่สิบกว่าปีมานี้แม้ว่าเวียดนามจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูงติดอันดับต้นๆของ AEC และโลก แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมของเขา โดยเฉพาะพื้นที่ป่าไม้ของเขาก็ยังทำได้ดีติดอันดับโลกเช่นกัน เพราะ ขณะที่ป่าไม้ประเทศต่างๆลดลงอย่างน่าตกใจแต่พื้นที่ป่าไม้ในเวียดนามกลับเพิ่มขึ้น
การดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมนั้น จากการที่ผมเดินทางไปทั่ว AEC และอีกหลายประเทศทั่วโลก ผมพบว่าการ รณรงค์นั้นต้องมาเคียงคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย ถึงจะประสบความสำเร็จ เพราะเรื่องโลกเรื่องสิ่งแวดล้อม นั้นเป็นเรื่องที่ไกลตัวคนแต่ละคน และแต่ละคนมักจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันเล็กน้อยไม่ส่งผลเสีย ต่อโลกและสิ่งแวดล้อมซักหน่อย ไม่มีคนขี่มอเตอร์ไซค์ที่บิดเร็วๆจนควันโขมงคนไหนจะมามัวคิดว่าตัวเองกำลัง ทำร้ายโลกทำร้ายสิ่งแวดล้อมหรอก แต่เขาจะคิดว่ามอเตอร์ไซค์แค่คันเดียวไม่มีผลอะไรหรอก แถมยังคิดว่าใครๆ เขาก็ทำกัน
ที่เวียดนามก็เช่นกัน ในขณะที่เขารณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อม รณรงค์สร้างเมืองสีเขียว ในขณะเดียวกันเขาก็บังคับใช้ กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ทำร้ายโลกและก่อให้เกิดมลภาวะ สองปีที่แล้วมีโรงเหล็กต่างชาติปล่อยน้ำเสียลงทะเล ปลาตายมหาศาล แม้ว่าโรงเหล็กนั้นจะมาลงทุนนับแสนล้านบาทแต่รัฐบาลเวียดนามก็ยังกล้าสั่งปรับนับหมื่นล้าน บาทแบบไม่ยอมให้ต่อรองได้ สุดท้ายเอกชนต่างชาติรายนั้นก็ต้องยอมจ่ายค่าปรับ เมื่อรัฐบาลบังคับใช้กฎหมาย อย่างจริงจัง ประชาชนก็จะรับรู้ว่ารัฐบาลเอาจริง เมื่อภาครัฐมีมาตรการรณรงค์อะไรออกมาประชาชนก็ย่อมยินดี ที่จะทำตาม
สิงคโปร์ที่ประสบความสำเร็จในการรณรงค์ให้คนของเขาใช้น้ำอย่างประหยัดนั้น ส่วนสำคัญก็เป็นเพราะเขามี มาตรการบังคับใช้ทางกฎหมายในเรื่องนี้มาอย่างรอบด้าน อาทิบังคับให้ห้องน้ำสาธารณะต้องติดระบบอัตโนมัติ สำหรับการชำระล้างทุกข์หนักและทุกเบาเพื่อการประหยัดน้ำ เครื่องใช้น้ำต้องมีเครื่องหมายการวัดความประหยัด ติดกำกับเอาไว้ด้วย เหมือนๆกับที่ไทยเรามีเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ห้านั่นเอง ส่วนไทยเราที่การบังคับใช้กฎหมายในทุกเรื่องยังอ่อนแออยู่มากนั้น คงต้องใช้เวลาอีกพอสมควรกว่าจะรณรงค์ ให้คนไทยสนใจเรื่องการดูแลโลกและสิ่งแวดล้อมได้