PERSPECTIVE OF AEC – ยุทธศาสตร์จากอาเซียนเพื่อรัฐบาลใหม่

0
621

24  มีนาคมที่จะถึงนี้ ถ้าไม่มีอุบัติเหตุอะไรเสียก่อน คนไทยเราคงจะได้ออกไปเลือกตั้งหลังจากว่างเว้นมาหลายปี

การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่ทั้งพรรคการเมือง นักการเมืองและกองเชียร์ทั้งที่เปิดเผยตวและไม่เปิดเผยตัวใช้ “โซเชียลมีเดีย” เป็นสื่อกลางในการนำเสนอนโยบาย วิพากษ์วิจารณ์และโจมตีซึ่งกันและกัน ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่าเดี๋ยวนี้ คนไทยมีความอดทนต่อความเห็นที่แตกต่างกับตัวเองต่ำมากอย่างน่าตกใจ และภาษาและศัพท์แสงที่ใช้ก็รุนแรงจนน่ากลัว

อย่าประมาทพลังของโซเชียลมีเดียไปนะครับ เพราะในการเลือกตั้งประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย ในปีพ.ศ. 2557 นั้น โจโค วิโดโด หรือโจโควี่สามารถใช้ “ทวิตเตอร์” หนึ่งในโซเชียลมีเดียที่ทรงพลังเอาชนะพรรคทหารซึ่งครองอำนาจ ปกครองประเทศมายาวนานได้อย่างราบคาบมาแล้ว ซึ่งในช่วงการเลือกตั้งดังกล่าวนั้น การรีทวีตหรือการส่งต่อข้อมูล หรือข้อความในทวิตเตอร์ในอินโดนีเซีย นั้นมีความถี่สูงติดอันดับโลกเลยทีเดียว

ซึ่งผมคาดว่าการโพสต์และแชร์เรื่องการเมืองของประเทศไทยในไลน์กับเฟซบุ๊คจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งก็น่าจะทำสถิติ ติดอันดับโลกได้แบบสบายๆ

ในโลกโซเชียลมีเดียนั้นทุกคนสามารถโพสต์และแชร์ข้อความอะไรก็ได้ที่เราชอบและเราเชื่อ ดังนั้นช่วงนี้ในเมืองไทยเรา คงจะได้เห็น “Fake News” แชร์กันเต็มไปหมด ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการการประชา สัมพันธ์แห่งชาติ พวกเราเคยมีการหยิบยกเรื่องอันตรายของ “Fake News” ขึ้นมาหารือกันที่ประชุม ซึ่งในอาเซียน สิงคโปร์ นั้นเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังกับการจัดการเรื่องมากที่สุด หลังเลือกตั้งหวังว่าจะเห็นรัฐบาลใหม่ของไทยเดินหน้าเรื่องนี้

รัฐบาลหรือนักวิเคราะห์การเมืองอาจจะให้เหตุผลที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปถึงความจำเป็นที่ไทยจะต้องมีเลือกตั้ง สำหรับผมเหตุผลสำคัญที่สุดก็คือ “ถ้าไม่มีเลือกตั้ง ถ้าประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ไทยเราจะไม่มีการลงทุนจากต่างประเทศ” ซึ่งในช่วงที่เราเป็นคสช.นั้นการลงทุนจากต่างประเทศของไทยนั้นต่ำติดดินอย่างน่าตกใจ เมื่อไม่มีการลงทุน จากต่างประเทศ เศราฐกิจไทยก็จะเดินหน้าต่อไปไม่ได้ ทีมเศรษฐกิจรัฐบาลพลเอกประยุทธ ก็คงจะรู้ดีแต่คงไม่สามารถ จะพูดได้ชัดๆแบบผม

และที่เวียดนามเติบโตเอาอย่างมากจนกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตเร็วที่สุดในโลกนั้นก็เพราะแรงขับเคลื่อนของการลงทุนจากต่างประเทศที่หลั่งไหลไปสู่เวียดนามแทนไทยนั่นเอง หลายคนอาจถามว่าเวียดนามก็ไม่เป็นประชาธิปไตย ทำไมจึงมีต่างประเทศไปลงทุนได้ คำตอบคือเงื่อนไขต่างกันครับ เวียดนามนั้นชัดเจนว่าเป็น “สาธารณรัฐสังคมนิยม”  ซึ่งทั้งโลกรับรู้อยู่แล้ว แต่ไทยเราทั้งโลกรับรู้ว่าเป็นประชาธิปไตยแต่ยังไม่มีเลือกตั้งเพราะอยู่ในช่วงรัฐประหาร

แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่โลกหันไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้นทุกปีจนแซงหน้าประเทศไทยไปไกลโขก็คือ “ยุทธศาสตร์ของ เวียดนาม” ในการพัฒนาประเทศนั้นมีความชัดเจนและเขียนได้อย่างถูกต้อง ว่าเขาต้องการจะขับเคลื่อนประเทศด้วย อุตสาหกรรมไฮเทคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นแม้ว่าเวียดนามจะเพิ่งเริ่มใช้ยุทธศาสตร์นี้มาเมื่อปีพ.ศ. 2529 ในการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ “โด่ยเหมย” เมื่อยุทธศาสตร์ชัดเจน เวียดนามจึงมีแนวทางดึงดูดการลงทุนที่ชัดเจนกว่าไทย

ดังนั้นเมื่อไทยเราได้รัฐบาลใหม่ สิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำก็คือ “ปรับปรุง” ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งผมเคยเขียนไว้ใน MIX แล้วว่าไม่ใช่ “ยุทธศาสตร์” อย่างที่หลายประเทศที่เขาปฏิรูปประเทศสำเร็จเขาเขียนกัน แต่เป็นแค่ “แนวทาง” ที่กว้าง จนเคว้งคว้างเหมือนๆกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่เราเขียนกันมาแล้ว 12 แผนนั่นเอง

โชคยังดีที่ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เขียนกันเอาไว้นั้น แม้จะเป็นกฎหมายทำให้แก้ไขปรับปรุงได้ยาก แต่ด้วยความที่เขียน ไว้เสียกว้างเคว้งคว้าง ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเลือก “วางตำแหน่งประเทศ” ไว้ตรงไหน หรือเลือกที่จะ “โฟกัส” ไปที่ อุตสาหกรรมใดก็จะสามารถทำได้โดยไม่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ปัญหาจึงอยู่ที่รัฐบาลใหม่รู้หรือเปล่าว่า “ตำแหน่งประเทศที่ดีควรกำหนดอย่างไร” และ “แนวนโยบายปฏิบัติ” ที่จะเป็น แนวทางให้หน่วยงานต่างๆรู้ว่าหน่วยงานใดจะต้องทำอะไร เมือไหร่ ด้วยงบประมาณเท่าไหร่ วัดผลอย่างไร และต้อง ประสานกับหน่วยงานอื่นตอนไหน อย่างไร ต้องเขียนกันอย่างไร?

ถ้ารัฐบาลและสภาพัฒน์ฯฟังผมเสียตั้งแต่เมื่อหกเจ็ดปีที่แล้ว การวางตำแหน่งประเทศและการเขียนแนวนโยบายปฏิบัติก็ คงจะไม่ยากเหมือนตอนนี้ เพราะสิ่งที่ไทยเราเขียนไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เขาแย่งทำ ไปหมดแล้ว แถมทำได้ดีเสียด้วย การจะไปแย่งอุตสาหกรรมที่เขาไปลงทุนในประเทศต่างๆเหล่านั้นเรียบร้อยแล้วให้หัน มาสนใจลงทุนในไทยก็จะยากเหมือนกับการที่ประเทศอื่นๆจะมาแย่งอุตสาหกรรมรถยนต์ไปจากเมืองไทย เพราะทุก อุตสาหกรรมต่างก็ต้องอาศัยมีผู้ประกอบการรายย่อยซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนรองรับเป็นหมื่นๆราย การย้ายฐาน การผลิตจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งนั้นไม่ใช่เรื่องจะทำกันได้ง่ายๆ

เรื่องที่สองที่รัฐบาลใหม่ต้องเขียนยุทธศาสตร์ให้ชัดว่าจะทำอย่างไรก็คือเรื่อง “คุณภาพของคนไทย” ซึ่งวันนี้ทั้งโลกต่าง มองว่าคุณภาพของคนไทยนั้นสู้หลายประเทศในอาเซียนไม่ได้แล้ว การปฏิรูปการศึกษาเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ จะช่วยยกระดับคุณภาพของคนไทยให้สูงขึ้นมาให้ได้ แต่เมื่อดูนโยบายของพรรคต่างๆที่นำเสนอกันในตอนนี้ รวมถึงมอง ย้อนหลังไปถึงผลงานของแต่ละพรรคที่เคยมีโอกาสเข้าไปบริหารการศึกษา รวมทั้งรัฐบาล คสช. ผมยังมองไม่เห็นว่าพรรค ไหนจะมีความรู้ และศักยภาพที่จะปฏิรูปการศึกษาได้เลย

เรื่องนี้อยากให้รัฐบาลใหม่ไปศึกษาการปฏิรูปการศึกษาของเวียดนามว่าเขาทำสำเร็จได้อย่างไร ทั้งๆที่สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ เช่นสภาพโรงเรียน ห้องเรียน จำนวนคอมพิวเตอร์ จำนวนครู เงินเดือนครู เขาแย่กว่าเราหมด แต่ธนาคารโลกกลับ บอกว่ามาตรฐานการศึกษาในเวียดนามนั้นสูงสอดคล้องมาตรฐานธนาคารโลก ผลการทดสอบโดยองค์กรระดับโลกเช่น  PISA (Program for International Assessment) ก็ตอกย้ำว่าคุณภาพนักเรียนของเวียดนามสูงกว่าไทย แต่คงไม่ต้องไปดูถึง สิงคโปร์ที่เด็กของเขาเก่งเป็นที่หนึ่งของโลกก็ได้

ยกระดับคุณภาพคนยังไม่พอ แต่รัฐบาลใหม่จะต้องมียุทธศาสตร์ที่จะช่วยสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนไทยให้ได้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้สังคมไทยแตกแยกมากขึ้นเรื่อยๆอย่างน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง อินโดนีเซียและมาเลเซีย ซึ่งคน ของเขาเคยแตกแยกกันอย่างรุนแรง วันนี้กลับอยู่ร่วมกันอย่างปรองดองมากกว่าไทยเราทั้งๆที่เขามีความแตกต่างทาง เชื้อชาติและศาสนามากกว่าเรา

เรื่องการปราบคอร์รัปชั่นซึ่งทุกรัฐบาลและทุกพรรคที่เสนอตัวยังไม่เคยมีใครทำสำเร็จ หรือ “มีความตั้งใจ” ให้เห็นว่าจะ ปราบให้สำเร็จจริงๆสักราย จนคนไทยส่วนหนึ่งถอดใจและยอมรับไปแล้วว่าไทยเราคงปราบคอร์รัปชั่นไม่สำเร็จ ดัชนี ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นซึ่งของปีพ.ศ. 2561 วัดโดยองค์กรความโปร่งใสนานานาชาติที่เพิ่งประกาศออกมาซึ่งไทยเราได้ 36 คะแนนเต็มร้อยได้อันดับที่  99 จาก 180 ประเทศทั่วโลกต่ำกว่าปีที่แล้ว 1 คะแนน ถ้าดูย้อนหลังไปถึงปีพ.ศ. 2555 ก็จะพบ ความจริงที่น่าตกใจว่าคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยเราจะแกว่งอยู่ในช่วงแคบๆระหว่าง 35-38 คะแนน ไม่มีแนวโน้มจะดีขึ้นต่างกับประเทศอาเซียนเช่นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว เมียนมาร์และเวียดนาม

การปราบคอร์รัปชั่นในประเทศที่เป็นสังคมอุปถัมภ์และมีการคอร์รัปชั่นฝังรากลึกนั้น ในโลกนี้มีเกาหลีใต้ซึ่งปราบจน สำเร็จให้เห็นเป็นตัวอย่างแล้ว จากในอดีตที่เคยมีการคอร์รัปชั่นหนักหนาสาหัสไม่แพ้ไทยเรา วันนี้เขาได้คะแนนดัชนี ภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น 57  คะแนนเกินครึ่งและได้อันดับที่ 45 ของโลก ดังนั้นรัฐบาลใหม่จะต้องเอายุทธศาสตร์การปราบ คอร์รัปชั่นแบบเกาหลีใต้มาใช้โดยเร่งด่วน และควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติในการปราบคอร์รัปชั่นของปปช.ซึ่งเขียนมา สองฉบับแล้ว แต่ยังไม่สามารถปราบคอร์รัปชั่นให้เห็นได้อย่างจริงจังเสียที ข่าวดีของรัฐบาลใหม่ก็คือ “ยุทธศาสตร์” ในการปฏิรูปประเทศ ยกระดับคุณภาพคนหรือปราบคอร์รัปชั่นนั้น มีตัวอย่าง ดีๆที่เขียนแล้วทำได้จริงให้รัฐบาลใหม่เลือกเอามาใช้ได้ทันที แต่ก็มีประเด็นที่ต้องรู้ให้จริงก็คือประเทศที่เขียนยุทธศาสตร์ และทำได้สำเร็จจริงเหล่านั้น “ผู้นำ จะต้องเก่งจริงและมือต้องสะอาดจัง” ซึ่งตรงนี้ผมคิดว่าเป็นข่าวร้ายของคนไทยครับ

[smartslider3 slider="9"]